[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ยุทธการปราบเด็กดื้อ

                                                                                    ยุทธการปราบเด็กดื้อ

          แน่นอนว่าพ่อแม่ทุกคนย่อมต้องการที่จะเห็นลูกเป็นเด็กที่ว่านอนสอนง่าย และเชื่อฟังคำสั่งสอนของตนเอง เนื่องจากอาบน้ำร้อนมาก่อน รู้ว่าอะไรดี และอะไรที่ไม่ดี ซึ่งเด็กบางคนที่ไม่เชื่อฟัง ไม่สามารถตอบสนองความต้องการ หรือคำสั่งสอนของพ่อแม่ได้ก็มักจะถูกมองว่าเป็นเด็กดื้อ

          การลงโทษต่างๆ จากคนที่เป็นพ่อแม่ก็จะเกิดขึ้น ซึ่งการลงโทษในแบบต่างๆ เหล่านั้น ตามมาซึ่งคำถามที่ว่า การลงโทษแบบไหนจะเป็นหนทางในการแก้ปัญหาที่ดีสุด หรือการลงโทษเด็กนั้นเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเพียงเท่านั้นเอง

***เด็กแต่ละวัยก็มีความดื้อในตัวเอง
            นพ.จอม ชุมช่วย จิตแพทย์ประจำคลินิกเด็ก วัยรุ่น และครอบครัว บอกว่า จากการที่เป็นจิตแพทย์มานั้น ปัญหาเรื่องเด็กไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่นั้นเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย และส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่พ่อแม่สามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นที่จะต้องพาเด็กมาพบแพทย์ ยกเว้นแต่ในกรณีที่เด็กดื้อจนทนไม่ไหว หรือพ่อแม่ไม่รู้ว่าจะจัดการได้อย่างไร ก็อาจจะต้องมาหาจิตแพทย์เด็กเพื่อวิเคราะห์เป็นรายๆ ไป

            เด็กดื้อนั้น นพ.จอม บอกว่า สามารถนิยามง่ายๆ ได้ว่า เด็กดื้อ ก็คือ เด็กที่มีพฤติกรรมไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ไม่ทำตามสิ่งที่ควรทำ ชอบเถียง ชอบต่อรอง แผลงฤทธิ์ หรือต่อต้านพ่อแม่ ส่วนเด็กเกเรนั้นจะมีพฤติกรรมแตกต่างจากดื้อก็ตรงที่ความรุนแรง เนื่องจากเด็กเกเรนั้นมีแนวโน้มว่าความดื้อของตนเองนั้นยังนำไปสู่การรุกรานคนอื่นด้วย เช่น การชกต่อย หาเรื่องคน ลักขโมย โกหก ซึ่งพบว่าความดื้อและความเกเรนั้นมีความสัมพันธ์กัน เนื่องจากเด็กดื้อถ้าไม่ได้รับการแก้ไขเสียแต่เนิ่นๆ ก็อาจจะพัฒนากลายเป็นความเกเรได้เหมือนกัน

          “บางครั้งเด็กดื้อก็อาจจะเกิดจากพ่อแม่ได้เหมือนกัน เพราะผู้ปกครองหลายคนมีความคาดหวังกับเด็กเกินความจริง และเด็กไม่สามารถทำตามที่คาดหวังได้ เพราะโดยธรรมชาติของเด็กไม่ว่าจะวัยไหนก็ตาม เด็กมีแนวโน้มที่อยากจะทำอะไรด้วยตัวเอง อยากจะเลือกหรือปฏิบัติตามใจชอบอยู่แล้ว แต่การจัดการของพ่อแม่ จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นหรือไม่ อันนี้พ่อแม่ก็ต้องตอบคำถามตัวเองด้วยเช่นกัน”

            ระดับความดื้อของเด็กในแต่ละช่วงวัยนั้น นพ.จอม อธิบายว่า ถ้าเป็นเด็กวัย 1-3 ปี ความดื้อจะเป็นเรื่องปกติของวัยนี้ เพราะเด็กอยากจะทำอะไรด้วยตัวเอง เริ่มสนใจสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว และในขณะเดียวกันเขายังรู้สึกว่าตัวเองสำคัญอยู่ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องมาพิจารณาต่อว่าพฤติกรรมแค่ไหนของลูกที่สามารถปล่อยไปได้ หรือแค่ไหนเป็นสิ่งที่ไม่สมควร และต้องหาทางจัดการบางอย่าง เหล่านี้เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องคอยพิจารณาไปด้วย

            ส่วนเด็กในวัย 3 ปีขึ้นไป เด็กจะใส่ใจในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เริ่มตระหนักว่าใครทำอะไร เขาควรทำอย่างไร และวัยนี้ส่วนใหญ่ก็เตรียมเข้าเรียนในชั้นอนุบาลแล้ว เขาสามารถเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ ไม่ใช่เอาแต่ตัวเองเป็นใหญ่เหมือนก่อน เพราะฉะนั้นเขาก็พร้อมที่จะรับฟัง เข้าใจสิ่งแวดล้อม และความดื้อจะเริ่มลดลงมา แต่ยังคงมีอยู่บ้าง เด็กที่เริ่มเรียนชั้นประถมศึกษานั้น พบว่า เด็กจะมีความรับผิดชอบตัวเองมากขึ้น แต่อาจจะมีดื้อบ้างเล็กน้อย

            “เด็กที่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่นนั้น ก็เป็นอีกช่วงหนึ่งที่มีความดื้ออยู่ในตัว เนื่องจากพบว่าเด็ก 2 วัยที่มักจะดื้อก็คือ เด็กวัย 1-3 ปี และช่วงวัยรุ่น เพราะเป็นธรรมชาติ แต่การดื้อของวัยรุ่นจะมีลักษณะที่เขาต้องการมีอิสระ ต้องการที่จะทำอะไรตามความนึกคิดของตัวเอง และเขาเองก็รู้สึกว่าตัวเขาเองมีเหตุผล ซึ่งเป็นเรื่องที่จัดการได้ยากอีกหนึ่งวัย แต่อย่างไรก็เป็นไปตามปกติของวัยนี้ ซึ่งพ่อแม่สามารถจัดการได้ด้วยการให้เกียรติเขา รับฟังเขา และก็ยอมรับในการเปลี่ยนแปลงของเขา รวมทั้งต้องยืดหยุ่นมากขึ้นให้เขา ซึ่งพ่อแม่ก็ควรจะตระหนักว่าถ้าลูกมีพฤติกรรมดังกล่าว ไม่ควรจะไปตำหนิหรือต่อว่าเด็ก แต่ต้องพิจารณาว่าจะช่วยเหลือเด็กอย่างไร ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ”

              แต่อย่างไรก็ตาม นพ.จอม บอกอีกว่า มีการพบว่าถ้าหากปล่อยปละละเลย และไม่หาวิธีจัดการลูกที่เริ่มออกอาการดื้อตั้งแต่เด็ก เมื่อมาถึงวัยรุ่นก็จะยิ่งจัดการยากมากขึ้นไปอีก

              “เราอย่าไปคาดหวังว่าถ้าถึงวัยรุ่นเขาจะเข้าใจ และสามารถจัดการปัญหาได้เอง เขาจะหายจากการดื้อเอง สามารถรู้รับผิดชอบชั่วดีได้ เป็นไปได้ยากนะครับ ถ้าเรายังไม่สามารถช่วยให้เขาสามารถคุมตัวเองได้ตั้งแต่วัยเด็ก เพราะฉะนั้นผมคิดว่า การที่เราช่วยจัดการปัญหาเด็กดื้อตั้งแต่เด็กก็จะเป็นการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในวัยรุ่นด้วย เพราะเด็กยังมีความดื้อติดตัวอยู่ และพ่อแม่ก็อาจจะจัดการยากมากขึ้น ซึ่งถ้าปล่อยให้การดื้อของเด็กยืดเยื้อออกไปก็จะเป็นปัญหาในภายหลังได้ เพราะเขาอาจจะพัฒนาความดื้อเป็นความเกเร ไม่ฟังใคร ต่อต้านมากขึ้น และเทคนิคในการดื้ออาจจะแพรวพราวมากขึ้นด้วย แต่วิธีการจัดการที่พ่อแม่จะจัดการได้ผลก็ต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็ก และต้องเข้าใจว่าเราจะมีวิธีการอย่างไร พ่อแม่ก็จะต้องมีทักษะที่ถูกต้องในการเลี้ยงดูลูกพอสมควร และจำเป็นที่จะใช้จัดการกับเด็กดื้อ โดยทักษะเหล่านั้นพ่อแม่สามารถเรียนรู้ได้”

****ทำไมเด็กถึงดื้อ

              การที่เด็กเกิดพฤติกรรมไม่เชื่อฟังพ่อแม่นั้นก็มีด้วยกันหลากปัจจัย นอกจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่แล้ว อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ ปัจจัยจากตัวเด็กเองด้วย เนื่องจากเด็กบางคนเกิดมาพร้อมกับความกล้า มีแนวโน้มหวั่นไหวง่าย เลี้ยงยาก เด็กกลุ่มนี้ก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นเด็กดื้อ

              “การเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่เราพบว่าเป็นปัญหาที่ทำให้เด็กพัฒนาความดื้อขึ้น ก็คือ ความไม่สม่ำเสมอ ไม่คงเส้นคงวา การขาดวินัย ซึ่งเป็นรูปแบบการเลี้ยงดูที่เจอบ่อย ที่ทำให้เด็กพัฒนาความดื้อมากขึ้น และอีกรูปแบบหนึ่งก็คือ การปล่อยเกินไป ไม่ติดตามผล และการไม่มีเวลาให้ลูกก็มีผลเหมือนกันนะ เพราะบางคนเด็กดื้อ สร้างปัญหา เพื่อให้พ่อแม่สนใจ สิ่งสำคัญต้องสร้างวินัย และต้องมีพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก เป็นกลยุทธ์หลักๆ แต่ถ้าเด็กดื้อจะไม่ทำโทษเลยก็คงจะเป็นไปไม่ได้ บางอย่างก็ต้องลงโทษเหมือนกัน แต่ก็ต้องเลือกให้ดี

              คุณพ่อคุณแม่คิดจะลงโทษลูก ถ้าสิ่งเดียวที่นึกออกเป็นการตีอย่างเดียวนี่อันตรายมาก เพราะว่าเด็กมีแนวโน้มที่จะต่อต้านและรุนแรงมากขึ้น การตีควรจะเก็บเป็นไม้ตายไม้สุดท้าย และพ่อแม่ก็ต้องสงบจริงๆ ซึ่งก็มีการลงโทษอีกหลายวิธีที่สามารถใช้ได้ผล ก็คือ Timeout หรือการให้เวลานอกกับทั้งพ่อแม่และเด็ก หรือการให้เขารับผิดชอบในสิ่งที่เขาทำ หรืออาจจะตัดสิทธิบางอย่าง เช่น ตัดสิทธิการดูการ์ตูน หรือทำงานชดใช้ แต่การจะลงโทษอย่างไรก็ควรจะมีการพูดคุยกับเด็กเหมือนกัน นอกจากนั้น การที่เด็กดื้อเล็กน้อยเราอาจจะใช้เทคนิคการเพิกเฉยก็ได้ ซึ่งมีหลายเทคนิคที่มีประโยชน์กับแต่ละสถานการณ์ต่างๆ ไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อแม่อาจจะต้องมาเรียนรู้เอาไว้ในแต่ละเทคนิคว่าจะใช้เทคนิคอะไร เมื่อไหร่”

***ดื้อแบบมีปัญหา

              นพ.จอม บอกว่า “เด็กที่ดื้อเป็นธรรมชาติ เขาก็อาจจะมีเรื่องมาต่อรองวันหนึ่งสักเรื่อง สองเรื่อง เช่น เขาอาจจะบอกว่า เดี๋ยวก่อน ไม่อยากทำ ยังไม่อยากทานข้าว ยังไม่อยากอาบน้ำ แต่ถ้าพ่อแม่มีความหนักแน่นกับคำสั่ง เขาก็ทำ อันนี้ถือว่าไม่ผิดปกตินะ แต่เด็กดื้อที่ดูท่าว่าจะเป็นปัญหาก็คือ พ่อแม่เองก็จัดการไม่ได้ หรือเวลาจัดการบางทีก็ถึงกับต้องทำร้าย ตบตีกัน จนทำให้พ่อแม่เองต้องหนักใจ”

              ถ้าถามว่าดื้อแบบไหนถึงจะมีปัญหา นพ.จอม ก็บอกว่าสามารถดูได้จากตัวชี้วัดกว้างๆ 2 ประเด็น คือ

- ดื้อขนาดที่พ่อแม่เองเป็นกังวล เครียด
- ดื้อจนการทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ ของเด็กมีปัญหา เช่น ไม่อยากทำการบ้าน ไม่อยากไปโรงเรียน เกิดผลเสีย หรือคบใครใครก็ไม่คบ เพื่อนฝูงต่างก็ระอา เอาแต่ใจตัวเอง ไม่ฟังกฎกติกาของสังคม ทำให้กระทบต่อคนรอบข้าง

2 เรื่องนี้ก็จะเป็นประเด็นกว้างๆ ที่สามารถดูได้ว่าลูกของคุณเริ่มดื้อแบบมีปัญหาแล้วหรือยัง?

***แปลความดื้อเป็นจุดแข็ง

            นพ.จอม บอกว่า มีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า เด็กดื้อนั้นสามารถเปลี่ยนความดื้อให้เป็นจุดแข็งได้เช่นกัน เนื่องจากเด็กที่ดื้อส่วนหนึ่งมีความยืนหยัดในความต้องการของตัวเองว่าอยากจะได้อะไร มีความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งในส่วนนี้ก็มีข้อดีอยู่บ้าง และสามารถมองในแง่บวกได้เหมือนกันว่า เด็กคนนั้นมีความยืนหยัดอยู่ในตัวเอง

            “บางสถานการณ์เราก็ต้องฟังเด็กเหมือนกันว่าเขาอยากได้อันนี้ อยากทำอันนี้ก่อน ทำไมเขาอยากทำอันนี้ก่อน มีเหตุผลอะไร ทำไมถึงไม่ทำอันนั้นก่อน ถ้าเขามีเหตุเข้าท่าก็ต้องฟังเขา ยอมเขา พ่อแม่ก็ต้องมีความยืดหยุ่นเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ว่ายืดหยุ่นจนไม่มีหลักการ เพราะฉะนั้น ถ้าเรายืดหยุ่น ยอมรับฟังเขาบ้าง ในขณะที่เขายืนหยัด แต่ยังไม่ถึงขั้นแบบดื้อรุนแรง ก็จะช่วยเขาเหมือนกัน ว่าถ้าเขาอยากจะทำอะไร ได้อะไร ถ้าเขามีเหตุผลเพียงพอ พ่อแม่ก็จะฟังเขา หรือถ้าเขามีเหตุผลเพียงพอ พ่อแม่ก็กลับจะชมเชยเขาด้วยซ้ำไป”

            วิธีที่จะช่วยป้องกันลูกจากการไม่เชื่อฟังนั้น นพ.จอม บอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันปัญหาเด็กดื้อคือ พ่อแม่ควรจะต้องมีเวลาให้ลูก เข้าใจลูก เข้าใจว่าลูกอยู่ในอารมณ์ไหน ควรจะทำอะไร อย่างไร แต่สิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดนั่นคือ ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวนั่นเอง

            “ถ้าเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก จะมีแรงอันหนึ่งที่จะช่วยจัดการปัญหาได้ เพราะลูกเขาก็อยากจะทำอะไรให้คนที่เขารัก แต่ต้องเป็นความผูกพันที่ดีพอ อาจจะมีเผลอดื้อไปบ้าง แต่เขาก็จะกลับมาได้ เพราะเขาแคร์ความรู้สึกของคนในครอบครัว สิ่งสำคัญที่สุดพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดีที่พ่อแม่มีกับลูกนั่นแหละจะเป็นเกราะที่ดีที่สุดในการป้องกัน” นพ.จอม ทิ้งท้าย





รายละเอียด


โดย:
งาน: งานผลิตเอกสาร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: สุรีย์รัตน์ พิทักษ์

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง