[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : เสนอ “มลายู” เป็นภาษาที่ 7 สอบแอดมิชชัน เปิดช่องเด็กมุสลิมเรียน ม.

    กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอ ศธ.ดันภาษามลายูกลาง เป็นภาษาที่ 7 ในการสอบแอดมิชชันเพื่อเปิดทางให้เด็กมุสลิมเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น พร้อมดันภาษามลายูกลางสอนใน ร.ร.ทั้งรัฐ-เอกชน เปิดสอนภาษามลายูกลางแพร่หลายขึ้น ด้าน ปลัด ศธ.ระบุ โรงเรียนไหนหักหัวคิวครู ให้แจ้งมายังสำนักปลัด พร้อมแนบหลักฐาน
           
      วันนี้ (4 มิ.ย.) นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นางจรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ โดย นายสมชาย กล่าวภายหลังการประชุม ว่า ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเป็นปัญหาที่เกิดเรื้อรังมานาน และฝังลึกลงไปในความคิด ทัศนคติ ของประชาชนและเยาวชนในพื้นที่ จึงต้องเร่งแก้ปัญหาด้วยใช้การศึกษาไปปรับทัศคติของเยาวชนในพื้นที่ให้มีจิตสำนึกในความเป็นคนไทยเหมือนกัน มีพระมหากษัตริย์องค์เดียวกัน สำหรับการแก้ปัญหาในระยะสั้นนั้นต้องแก้เรื่องความปลอดภัยของครู นักเรียน ด้วยการจ้างยามรักษาความปลอดภัยมาดูแลตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนได้ตามปกติ
     
      ด้าน พลเอกสมชาย วิษณุวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ กล่าวว่า วันนี้ได้มีการหารือปัญหาที่มีผลกระทบด้านการศึกษา ซึ่งเกิดกับบุคลากร ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนเรื่องอื่นๆ พร้อมกันนี้ในที่ประชุมได้มีการเสนอแนะข้อเท็จจริงต่างๆ เพื่อให้ ศธ.นำไปเป็นยุทธศาสตร์แก้ปัญหาการจัดการศึกษาของภาคใต้ แล้วแปลงไปสู่การปฏิบัติของประชาชนในพื้นที่ต่อไป
     
      ส่วนนางฟารีดา สุไลมาน ประธานอนุกรรมาธิการด้านการศึกษา สังคม วัฒนธรรม และสาธารณสุข ใน 3 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่า กมธ.ได้มีการเสนอให้จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ เนื่องจากนักเรียนส่วนใหญ่เรียนด้านศาสนา ด้วยเหตุนี้ ศธ.จะต้องจัดการศึกษาให้เหมาะกับวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของมุสลิม อีกเรื่องหนึ่งที่รู้สึกเป็นห่วงเรื่องการศึกษาที่ยังตกต่ำอยู่มาก จึงเสนอให้เพิ่มพื้นที่แหล่งเรียนรู้ให้มากขึ้น และต้องมาคิดร่วมกันว่าจะทำอย่างไรให้คนในพื้นที่ใน 3 จังหวัดมีทัศนคติที่ดีต่อกัน ไม่มีการแยกชาวไทยพุทธ และอิสลาม โดย กมธ.เสนอทางแก้ในเรื่องนี้โดยให้โรงเรียนสังกัดของรัฐเป็นโรงเรียนแม่นำจัดกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนเอกชน โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ปอเนาะ ตาดีกา เพื่อสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
     
      นางฟารีดา กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ส่วนใหญ่จะเปิดสอนสาขาด้านสังคมศาสตร์ ส่งผลให้นักศึกษาเมื่อเรียนจบปริญญาตรีแล้วหางานทำได้น้อย จึงแนะนำให้เปิดสอนคณะวิทยาศาสตร์ เช่นสาขาวิทยาศาสตร์ด้านอาหารฮาลาล เพื่อให้พี่น้องมุสลิมได้เรียนและสามารถหางานทำได้ง่ายขึ้น พร้อมกันนี้ต้องการให้ มอ.ปัตตานี เป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นเอกเทศด้วย
     
      พร้อมกันนี้ ยังได้เสนอให้มีจัดการเรียนการสอนภาษามาลายูกลาง เป็นภาษาต่างประเทศที่ 2 เพราะขณะนี้นักเรียนส่วนใหญ่เมื่อเรียนจบมัธยมแล้วมักจะเรียนต่อหรือหางานทำที่ประเทศมาเลเชีย อินโดนีเซีย และบรูไน เป็นต้น และเสนอให้เป็นภาษาทางเลือกที่ 7 ในการจัดสอบแอดมิชชันด้วย
     
      “คนใต้ส่วนใหญ่จะพูดภาษามาลายูถิ่นเพื่อการสื่อสาร แต่ในการเรียนการสอนไม่มีการสอนภาษามลายูกลาง เมื่อเด็กต้องการเรียนต่อในประเทศดังกล่าว ต้องเสียเวลาเรียนภาษามลายูกลาง จึงต้องการให้เปิดสอนภาษามาลายูกลางในชั้นเรียน พร้อมกันนี้ต้องการให้เพิ่มภาษามลายูกลางไว้ในการสอบแอดมิชชันเปิดโอกาสให้เด็กเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น”
     
      นายนัจมุดดีน อูมา รองประธาน กล่าวว่า วันนี้มาฟังนโยบายของศธ.ที่ดำเนินการไปบ้างแล้วรู้สึกสบายใจ แต่ยังเป็นห่วงเรื่องกรอบอัตรากำลังที่ยังขาดแคลนอยู่ ตลอดจนเรื่องพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการโรงเรียนตาดีกา ซึ่ง ศธ.ได้ตอบแทนครูสอนตาดีกาคนละ 2 พันบาทต่อเดือน แต่ขณะนี้โรงเรียนตาดีกาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพื้นที่การศึกษา จึงอยากหารือว่าในอนาคตจะให้มีเจ้าภาพรับผิดชอบใหม่หรือไม่ สำหรับการบริหารจัดการโรงเรียนเอกชน โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ปอเนาะ และตาดีกา อยากให้มีการหารือกันว่าจะเสริมศักยภาพการบริหารจัดการงบประมาณให้เกิดความโปร่งใส
     
      นอกจากนี้ การที่ ศธ.ได้มีการตั้งงบ 50 ล้านบาทเป็นทุนการศึกษาแก่เด็กเพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ขอให้พิจารณาในสาขาที่ขาดแคลน เพื่อให้เด็กเรียนจบกลับมาแล้วมีงานทำ
     
      ขณะนี้ มหาวิทยาลัยนราธิวาส ได้เปิดสถาบันอิสลามและอาหรับศึกษา เพื่อสอนเสริมให้เด็กในพื้นที่ได้มีความรู้ภาษาอาหรับ ภาษามาลายูกลาง เพราะขณะนี้ตลาดมีความต้องการสูงอันเนื่องจากทั่วโลกมีคนพูดภาษามาลายูกลาง และอาหรับ ประมาณ 500 ล้านคน ดังนั้น หากเราเสริมให้เด็กในพื้นที่ภาคใต้มีความรู้ภาษาดังกล่าวได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต
     
      ขณะที่ นางจรวยพร กล่าวว่า กมธ.บอกว่า มีโรงเรียนเอกชนบางแห่งหักค่าหัวคิวครู จ่ายเงินเดือนให้ครูไม่เต็มตามจำนวน ซึ่งครูเอกชนรายใดที่ได้รับความเดือดร้อนลักษณะดังกล่าวให้แจ้งมาที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เพื่อลงไปตรวจสอบและดำเนินการ อย่างไรก็ตาม เรื่องเงินเดือนของครูเอกชนนั้น ศธ. ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวเป็นเรื่องที่ตกลงกันระหว่างผู้รับใบอนุญาตและครูตกลงกัน ศธ.เพียงแต่กำหนดว่าอัตราเงินเดือนของครูเอกชนจะเป็นตามวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี สำหรับความก้าวหน้าของครูเป็นเรื่องของโรงเรียนตัดสินใจ ต่างจากข้าราชการที่จะมีการกำหนดลำดับขั้นไว้ ทั้งนี้ ส่วนที่ ศธ.สนับสนุนให้นั้นจะมีค่าใช้จ่ารายหัวของนักเรียน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวจะรวมในส่วนของเงินเดือนครูซึ่งโรงเรียนจะเป็นผู้บริหารจัดการเอง และตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ได้กำหนดให้โรงเรียนเอกชนหักรายได้ 3% เข้ากองทุนสงเคราะห์ครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน
     
      อย่างไรก็ตาม ศธ.ฝากให้ กมธ. นำเรื่องปัญหาการขาดแคลนครู ไปร่วมหารือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เรื่องโครงสร้างราชการที่มีหน่วยงานจัดการศึกษาภาคใต้เป็นพิเศษนั้น ฝากให้ คณะกรรมาธิการฯไปหารือกับคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและกำลังคนภาครัฐ (คปร.) และเรื่องความปลอดภัยของครูที่อยู่ในพื้นที่ก็ได้ขอให้ไปหารือร่วมกับกระทรวงกลาโหม รวมถึงเรื่องงบประมาณเพื่อใช้ในการดำเนินการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าข้อเสนอทั้งหมดหากทำได้ก็จะทำให้การจัดการศึกษาของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีคุณภาพมากขึ้น
     
      ด้าน คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอ กมธ.วิสามัญฯ ที่ส่งเสริมการสอนภาษามลายูกลางใน ร.ร.อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน มี ร.ร.รัฐประมาณ 6 แห่ง ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นำร่องจัดสอนภาษามลายูกลางอยู่ แต่เมื่อ กมธ.วิสามัญ มีข้อเสนอมาเช่นนี้ก็จะนำไปหารือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในภาคใต้ ซึ่งในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ ตนได้เชิญผู้อำนวยการ สพท.ใน 5 จังหวัดภาคใต้มาประชุมอยู่แล้ว จะนำเรื่องนี้ประมวลเป็นข้อเสนอเพื่อหารือในวันดังกล่าว





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ 4 มิถุนายน 2551 16:50 น.

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง