[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : กับดักทางจิตใจใน “ทฤษฎีผู้มีปัญญาเลิศ”

      การเลี้ยงลูกให้มีพัฒนาการที่ดีและสมบูรณ์แบบในทุกๆ ด้าน อาจเป็นความหวังขั้นสูงสุดของผู้ปกครองหัวสมัยใหม่หลายคนที่ต้องการให้ลูกของตนเองได้ครอบครองความสามารถที่เรียกว่า “ผู้มีปัญญาเลิศ” แต่การจะบรรลุความสำเร็จในเรื่องดังกล่าวถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง และมีแนวทางที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมากมายจนอาจนำมาซึ่งปัญหาครอบครัวได้ในที่สุด
     
     
พบพหุปัญญา อาจพบพหุปัญหา
     
      ศ.ศรียา นิยมธรรม ประธานมูลนิธิส่งเสริมเด็กปัญญาเลิศ ให้มุมมองต่อประเด็นดังกล่าวว่า เรื่องของเด็กเก่ง นักจิตวิทยาแบ่งไว้หลายระดับ อัจฉริยะคือคนเก่งแล้วทำประโยชน์ให้กับมนุษยชาติได้ ถ้าเก่งแล้วไม่ได้ทำประโยชน์ให้สังคมก็ถือเป็นคนเก่งธรรมดา
     
      อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีความเก่งมีเป็นร้อย ขึ้นอยู่กับความต้องการของสังคมในยุคนั้นว่าต้องการแบบไหน ยกตัวอย่างในประเทศไทย แพทย์จะมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ถ้าในสหรัฐอเมริกา คนเรียนกฎหมายจะโก้มาก
     
      สำหรับแนวคิดเดิมเกี่ยวกับเด็กมีพรสวรรค์ จะประกอบด้วย คุณสมบัติ 3 ประการ ได้แก่ มีสติปัญญาสูงเกินเกณฑ์เฉลี่ย, มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมีความมุ่งมั่นในการทำงานให้สำเร็จ ต่อมาได้มีแนวคิดใหม่เกิดขึ้นมากมาย และหนึ่งในนั้นก็คือแนวคิดเรื่อง Multiple Intelligence ของ “ศ.โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์” ซึ่งแบ่งความเก่งของเด็กออกเป็น 9 ด้าน ประกอบด้วย ด้านภาษา, ด้านตรรกะ-คณิตศาสตร์, ด้านมิติสัมพันธ์, ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว, ด้านดนตรี, ด้านความเข้าใจระหว่างบุคคลหรือด้านมนุษยสัมพันธ์, ด้านความเข้าใจในตนเอง, ด้านธรรมชาติ และสุดท้ายคือ ด้านอัตถภวนิยม จิตนิยม และการดำรงคงอยู่ของชีวิต
     
      จากแนวคิดเดิมเกี่ยวกับความเก่งของเด็กนั้นจะมีอยู่เพียง 2 ด้าน คือ ด้านภาษาและคณิตศาสตร์ แต่จากทฤษฎีความเก่งรอบด้าน 9 ประเภท ของ ศ.โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ ส่งผลให้ความคาดหวังของผู้ปกครองในการสร้างความเป็นเลิศในด้านต่างๆ ให้แก่บุตรหลานเพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้มีสถาบันกวดวิชาต่างๆ มองทฤษฎีพหุปัญญาเป็นสินค้าตัวใหม่ในเชิงพาณิชย์
     
      ในส่วนนี้ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจติที่ 13 กรมสุขภาพจิต ให้ความเห็นว่า สมัยก่อน เราคัดกรองเด็กแค่เก่งเลข หรือเก่งภาษา แต่เมื่อเกิดแนวคิดของพหุปัญญาจะพบว่า การเรียนกวดวิชาของเด็กในปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้น เด็กบางคนต้องไปเรียนเปียโน เรียนบัลเล่ต์ เรียนศิลปะ เรียนว่ายน้ำ ซึ่งทั้งหมดอาจไปจบลงที่พหุปัญหาได้ ด้วยความรักของพ่อแม่ที่รักลูกมาก อันที่จริงแก่นของพหุปัญญาคือการบอกว่าเด็กแต่ละคนมีเอกลักษณ์ของตนเอง บางเรื่องก็เป็นจุดเด่นควรส่งเสริม บางเรื่องก็เป็นจุดอ่อนที่ควรได้รับการดูแลแก้ไข
     
      “สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกของตนเองได้ ก็คือ การยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น การมองหาศักยภาพของเขาที่มีอยู่ และการพยายามปรับปรุงแก้ไขจุดอ่อนของลูก”
     
      การแก้ไขจุดอ่อนในเด็กทำได้โดยการให้กำลังใจ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เด็กเลือกทำแต่เฉพาะสิ่งที่เขาทำได้ดี หรือทำแล้วได้รับคำชื่นชมจากคนรอบข้าง และไม่ทำในสิ่งที่เขาไม่ได้รับการยอมรับ เพราะสุดท้ายแล้ว จุดอ่อนที่ไม่ได้รับการแก้ไข จะทำให้เขาหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและปิดกั้นตัวเองจากสังคมจนต้องอยู่อย่างเดียวดายในที่สุด
     
     
ปัญญาเลิศ-ปัญญาเทียม
     
      การสนับสนุนด้านการศึกษาอย่างเข้มงวดจากผู้ปกครอง แม้จะทำด้วยความรักและความหวังดี แต่ พญ.อัมพร เปิดเผยว่า ได้ทำให้เด็กบางคนเกิดอาการผิดปกติทางจิตใจด้วยเช่นกัน
     
      “การที่คุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าลูกมีความเป็นเลิศในด้านใดเป็นพิเศษ และพยายามสนับสนุนเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องพิจารณาความสามารถ สติปัญญาของลูกด้วยว่ารับไหวหรือเปล่า การผลักดันจนมากเกินความสามารถของเด็ก จะสร้างความเครียดในจิตใจ และทำให้เขากลายเป็นอัจฉริยะปลอม ๆ ซึ่งเด็กบางคนส่งสัญญาณความเครียดผ่านอาการของโรคต่างๆ เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ ขณะที่เด็กบางคนไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ ออกมา ได้แต่เก็บกดเอาไว้ ความเครียดเหล่านั้นอาจส่งผลร้ายแรงในภายหลังได้ค่ะ”
     
      พร้อมกันนี้ พญ.อัมพร ได้เสริมว่า หน้าที่ของพ่อแม่คือการสังเกตว่าลูกมีความถนัดในด้านใด และส่งเสริมความถนัดนั้นๆ ด้วยบรรยากาศแห่งความสุข ผ่านทางกิจกรรมการพูดคุย หรือการท่องเที่ยวด้วยกัน นอกจากนั้น ยังต้องสอนในเรื่องของกระบวนการคิด ทักษะในการนำศาสตร์นั้นๆ ไปใช้เพื่อส่วนรวม หรือบุคคลอื่นร่วมด้วย เพื่อให้เด็กเติบโตและเรียนรู้โลกภายนอกไปพร้อมๆ กัน ถ้าผู้ปกครองไม่สอนให้เด็กเห็นความสำคัญในจุดนี้ เขาจะเห็นแต่โลกด้านเดียว คือด้านที่มีแต่ความสำเร็จของตนเอง
     
      ด้าน “รัตนา ตรีเทพวิจิตร” มารดาของ “ด.ช.สิรภพ จิตรมีศิลป์” นักเรียนชั้น ป.5 เจ้าของรางวัลเหรียญทองคณิตศาสตร์โลกจากเวทีการแข่งขัน World Mathematic 2 ปีซ้อน (2007-2008) คนแรกของไทย เปิดเผยว่า ครอบครัวมีส่วนสำคัญมากในการค้นหาความถนัดของลูก โดยเฉพาะในยุคที่มีการแข่งขันสูงอย่างทุกวันนี้ ทุกคนจะพยายามส่งลูกไปเรียนพิเศษ แต่ถ้าหากพ่อแม่ไม่ทราบว่าลูกถนัดทางด้านไหน เด็กอาจได้เรียนพิเศษเยอะเกินความจำเป็น
     
      “สำหรับ น้องภพ เราเห็นเขาชอบต่อชิ้นส่วน หรือเลโก้รูปทรงต่างๆ ตามแบบที่เขาคิดเอง และเมื่อขึ้น ป.2 ก็ยิ่งฉายแววความถนัดมากขึ้น เมื่อเขารู้จักเปรียบเทียบราคาสินค้ากับปริมาณว่ายี่ห้อใดซื้อแล้วคุ้มค่ากว่ากัน สำหรับการเรียนเสริม ทางคุณแม่และคุณพ่อจะให้น้องภพเรียนเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ ส่วนวิชาอื่น ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ ศิลปะ และดนตรี จะช่วยกันเสริมให้เอง ที่สำคัญต้องเสริมความพร้อมทางด้านร่างกายด้วย เพื่อให้เด็กมีโภชนาการที่ดี”
     
      อย่างไรก็ดี ปัญหาที่พบมากในเด็กที่มีพรสวรรค์ คือ ขาดทักษะในการปรับตัวเข้าสังคม รวมถึงการขาดเวทีสนับสนุนในระดับที่สูงขึ้นไป ซึ่งเมื่อถึงวันหนึ่งที่ไม่มีเวทีให้แข่งขัน และสังคมไม่มีพื้นที่ให้เด็กได้นำความสามารถที่มีไปใช้ได้ เขาจะรู้สึกเหมือนตกจากที่สูง และกลายเป็นความไม่เชื่อมั่นในที่สุด
     
      “สิ่งที่จะป้องกันปัญหาได้ คือ ต้องสร้างต้นทุนที่ดีให้กับเด็กตั้งแต่แรกเริ่ม ต้นทุนที่ดีทั้งในด้านสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ คุณแม่อาจจะนั่งสมาธิ เพื่อให้จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน เมื่อเรามีจิตใจที่มั่นคง ร่างกายก็จะหลั่งสารดีๆ ออกมา ทำให้ลูกได้รับสารดีนั้นไปด้วย หรือในการเลี้ยงดูก็เช่นกัน ความเชื่อแบบเก่าๆ ที่ไม่ให้โอ๋ลูกเวลาร้องไห้ จริงๆ แล้ว เวลานั้นคือนาทีทองของพ่อแม่ ที่ทำให้ลูกรู้สึกมั่นใจว่า เขามีคนที่รัก มีแม่มีพ่อ เขาจะเกิดพัฒนาการด้านความไว้วางใจคนอื่นตามมา ซึ่งคนที่ขาดจุดนี้จะอยู่ได้ยากในสังคมค่ะ” ศ.ศรียาสรุปทิ้งท้าย





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ 11 กรกฎาคม 2551 07:56 น.

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง