[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : แข่งขันนานาชาติ “P.E.M.2008” พ่ายหุ่นยุ่น ไปไกลสุดแค่ 8 ทีม

      หุ่นยนต์เด็กอาชีวะไทยพ่ายญี่ปุ่นทำได้ดีที่สุดแค่ 8 ทีม อดเข้าไปซิวแชมป์กับจีน หัวหน้าทีมรับอ่านเกมผิด ทั้งที่เทคโนโลยีไม่ต่างกัน บ่นอุบเสียดายที่มาไกลแต่ต้องผิดหวัง เผยบทเรียนครั้งนี้ต้องกลับไปปรับปรุงเกม และเพิ่มเทคโนโลยี เตรียมพร้อมลุยศึกในญี่ปุ่นปีหน้า
     
      การแข่งขันหุ่นยนต์ ABU Robot Contest 2008 ครั้งที่ 7 ณ สถาบันเทคโนโลยีมหาราชา หรือ Maharashtra Institute of Technology (MIT) เมืองปูเน ประเทศอินเดีย เมื่อค่ำวานนี้ (31 ส.ค.51) ปรากฏว่า ทีม “P.E.M.2008” ตัวแทนประเทศไทย จากวิทยาลัยเทคนิคสกล ตกรอบในรอบ 8 ทีมสุดท้ายไปอย่างน่าเสียดาย โดยแพ้ให้กับทีม Toyohashi Robocons จากประเทศญี่ปุ่นไป 16:31 แต้ม หมดโอกาสเข้าไปชิงแชมป์ต่อ ซึ่งแชมป์ตกเป็นของตัวเต็งอย่างทีม INSPIRE ROBOT TEAM จากจีนที่เฉือนชนะทีม Phantom ประเทศอียิปต์ไปอย่างหวุดหวิด 22:21 แต้ม
     
      เกมในรอบคัดเลือก ไทยพบมาเก๊า และอินเดียเจ้าภาพ ชนะไป 30:9 และ 27:18 ผ่านเข้ารอบ 8 ทีมเป็นที่หนึ่งของสายอี รอบ 8 ทีมคัดเหลือ 4 ทีม ไทยพบญี่ปุ่นที่สองของสายเอ จากการอ่านเกมญี่ปุ่นเหนือกว่า ทำให้สามารถชนะทีมไทยเข้ารอบ 4 ทีมก่อนจะแพ้ให้กับประเทศเจ้าภาพ
     
      นายณัฐวุฒิ นิ่มนาง หัวหน้าทีมและ Navigator กล่าวภายหลังการแข่งขันว่า รู้สึกเสียดายที่แพ้ให้ญี่ปุ่นเนื่องจากเทคโนโลยีหุ่นยนต์ของไทยและญี่ปุ่นไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ต้องยอมรับว่าทีม P.E.M.2008 ตกรอบเนื่องจากอ่านเกมของฝ่ายตรงข้ามผิด และญี่ปุ่นเองก็เดาใจทีมไทยได้ทะลุ จึงตั้งใจปล่อยหุ่นอัตโนมัติช้าเพื่อให้ชนกับหุ่นไทยไม่ให้เก็บแต้มได้ โดยใช้หุ่นบังคับมือต่อกับหุ่นอีกตัวหนึ่งเก็บแต้มแทน ทำให้ญี่ปุ่นนำไทย
     
      “เสียใจที่อุตส่าห์เดินมาไกลแล้วได้แค่นี้ เพราะหุ่นเราไม่ได้แตกต่างกันมาก เราคาดหวังไว้ว่าอาจจะได้เข้าชิงกับจีนก็ต้องแพ้ก่อน แต่ต้องยอมรับว่าญี่ปุ่นอ่านเกมเก่ง และเราวางแผนที่จะสู้กับญี่ปุ่นผิด ซึ่งการแข่งหุ่นยนต์จะวัดแค่หุ่นยนต์กับเทคโนโลยีไม่ได้ ขึ้นอยู่กับการวางแผนด้วย” นายณัฐวุฒิ กล่าว
     
      นายไพรัช นูขุนทด หัวหน้าคณะอาจารย์ที่ปรึกษาทีม กล่าวว่า หลังการแข่งขันได้ปลอบใจเด็กไทยว่าทำดีที่สุดแล้ว และยอมรับว่าไทยวางแผนผิดพลาดและเดาใจคู่แข่งได้ยากเนื่องจากปีนี้นอกจากเทคโนโลยีหุ่นยนต์ของแต่ละประเทศพัฒนาไปรวดเร็วมาก ทั้ง 18 ประเทศได้ศึกษาแผนการเล่นของคู่แข่งมาเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามการแข่งขันระดับนานาชาติครั้งนี้เป็นการพิสูจน์ฝีมือเด็กอาชีวะไทยระดับหนึ่ง อีกทั้งเป็นได้เปิดหูเปิดตาศึกษาเทคโนโลยี ระบบเซ็นเซอร์ของต่างประเทศที่เมืองไทยไม่มี เพื่อนำไปปรับใช้ในปีต่อไปได้อีกด้วย
     
      “เราเสียดาย แต่ก็ต้องยอมรับว่าแต่ละทีมเก่งมาก จีนเทคโนโลยีสูงสุดยอด เวียดนาม เกาหลี อียิปต์มาแรงทุกประเทศ ไทยกับญี่ปุ่นสูสีและเขาวางแผนเฉียบกว่า เราแพ้เด็กก็ยอมรับจุดนี้”อาจารย์ที่ปรึกษาทีม กล่าว
     
      ขณะที่ นายอนุพงษ์ ไชบุบผา ผู้บังคับหุ่นยนต์บังคับด้วยมือ กล่าวว่า หุ่นยนต์ของไทยเสียเปรียบญี่ปุ่นที่หุ่นบังคับด้วยมือ เนื่องจากความเร็วและประโยชน์ใช้สอยยังสู้ญี่ปุ่นไม่ได้ โปรแกรมบางตัวที่อาจจะทำให้ไทยทำเวลาช้ากว่าญี่ปุ่นเพียงเสี้ยววินาทีก็ทำให้เสียแต้มให้ฝ่ายตรงข้ามได้ ประกอบการการเดินเกมผิดทางของไทยที่มองข้ามญี่ปุ่นไปทำให้ไทยทำได้ดีที่สุดเพียงผ่านรอบ 8 ทีมสุดท้ายมาได้เท่านั้น
     
      “ประสบการณ์ครั้งนี้ก็ต้องนำไปแก้ไข สอนรุ่นน้องๆ ต่อไป แต่ทีมเรายังพอมีโอกาสแก้มือกับญี่ปุ่นซึ่งปีหน้าเขาเป็นเจ้าภาพ ครั้งนี้ที่แพ้ส่วนหนึ่งมาจากที่เรามีเวลาซ้อมมือกับหุ่นที่ใช้ลงสนามไม่นานเพราะต้องส่งมาให้เจ้าภาพตรวจก่อน และหุ่นสำรองที่นำมาเขาก็ไม่อนุญาตให้ลงแข่ง ก็เลยขลุกขลักเล็กน้อย แต่เราทำดีที่สุดแล้ว” นายอนุพงษ์ กล่าว
     
      อนึ่ง การแข่งขันหุ่นยนต์ ABU Robot Contest 2008 ครั้งที่ 8 จะจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทีมไทยจากวิทยาลัยเทคนิคสกลนครตั้งปณิธานว่าจะนำทีมชนะการแข่งขันระดับประเทศและเป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อขอแก้มือกับญี่ปุ่นในปีหน้าแน่นอน





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ 1 กันยายน 2551 10:51 น.

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง