[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : สิทธิเด็กในการพัฒนาตนเอง

      “เมื่อโตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร”
      คำถามพื้นๆ ที่คนเป็นเด็กมักถูกผู้ใหญ่ถาม แม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก็ถูกถามมาตั้งแต่เด็ก ส่วนคำตอบก็สุดแท้แต่ว่าใครชื่นชอบใคร หรือใครมีภาพความรู้สึกดีกับอาชีพหรือสิ่งใด
     
      แต่คำถามพื้นๆ ประโยคเดียวกันนี้ กลับไม่ธรรมดาสำหรับพี่ปอง “เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป” กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก
     
      “รู้ไหมพี่ตกใจมาก ย้ำว่า ตกใจมากจริงๆ เพราะพี่ถามว่า เมื่อโตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร กับเด็กวัยอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ ที่พี่ไปทำงานลงพื้นที่ในโครงการบุ๊คสตาร์ท เด็กผู้ชายเกินกว่าครึ่งตอบว่า อยากเป็นเคน เพราะจะได้ข่มขืนแอน ส่วนเด็กผู้หญิงตอบว่า อยากเป็นแอน เพราะจะได้โดนเคนข่มขืน”

        อึ้งสิคะ...ไม่ใช่เฉพาะคุณเรืองศักดิ์หรอกค่ะ ทุกคนที่ได้ยินเรื่องนี้ต่างก็ตกอกตกใจตามกันไป เพราะเคนกับแอนที่เด็กพูดถึง คือ เคน ธีรเดช วงศ์พัวพัน และ แอน ทองประสม ดาราชื่อดัง ซึ่งเข้าใจว่าคงมาจากละครเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่ทั้งสองคนเคยเล่นเป็นพระเอกนางเอกคู่กัน และมีฉากที่เด็กๆ จดจำและฝังใจ
     
      ที่น่าตกใจเพิ่มหนักเข้าไปอีก ก็คือ เหตุผลของเด็กที่ว่า เมื่อรักใครสักคนให้ข่มขืนไว้ก่อน สุดท้ายก็จะได้มาอยู่ด้วยกัน เหมือนแอนกับเคน
     
      “ผู้ใหญ่หลายคนฟังแล้วอาจจะขำในคำตอบของเด็กๆ แต่ผมมองว่านี่คือวิกฤตของสังคมไทย ทุกวันนี้เราจะเห็นความรุนแรงอย่างเป็นรูปธรรมได้จากโทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งทุกฉบับและทุกๆวัน ซึ่งนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น ความรักไม่สมหวังก็ฆ่าตัวตาย, ไปทำร้ายอีกฝ่ายเอาน้ำมันไปราดแล้วจุดไฟเผา , วางแผนฆ่าคนขับแท็กซี่เลียนแบบในเกม, รุมโทรมผู้หญิงเลียนแบบในละคร, เด็กภาคใต้ใช้ไฮเตอร์อาบน้ำ เพราะดูจากโฆษณาแล้วคิดว่าไฮเตอร์จะทำให้ตัวขาว, เด็กหญิงในจังหวัดราชบุรีขายตัวครั้งละ 50 บาท เพื่อนำเงินไปซื้อบัตรเติมเงินโทรศัพท์ ตัวอย่างเหล่านี้กำลังสะท้อนให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็กและเยาวชนในสังคมไทย”
     
      เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนสภาพปัญหาของเด็ก เยาวชน ครอบครัว และสังคมในยุคปัจจุบันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุปัจจัยที่คนเป็นพ่อแม่ก็คงรับทราบกันดีอยู่ อันเนื่องมาจากการที่ผู้ใหญ่ไม่ได้สร้างรากฐานของชีวิตที่แข็งแกร่งให้กับเด็ก
     
      เมื่อรากฐานของชีวิตไม่แข็งแรง เมื่อเด็กได้รับสื่อที่ไม่ได้มีการคัดกรอง ครอบครัวไม่ได้เป็นฐานที่มั่นของชีวิต โอกาสที่เด็กจะก้าวพลั้ง และขาดความเข้าใจว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด หรือสิ่งใดควรหรือไม่ควร ก็เป็นปัญหามากยิ่งขึ้น
     
      ประกอบกับพฤติกรรมการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ในสังคมไทยยังคงมีปัญหาอยู่..!!!
     
      ประเด็นที่ อยากจะชวนเพื่อนผู้อ่านคุยครั้งนี้คือเรื่อง สิทธิเด็ก อนุสัญญาฯ กำหนดพันธกรณีให้ประเทศภาคีสมาชิกคุ้มครองสิทธิเด็ก โดยแยกเป็น ประเภทใหญ่ๆ ได้ 4 ประเภท
     
      1.สิทธิในชีวิตและการอยู่รอด
      2.สิทธิในการได้รับการปกป้องคุ้มครอง
      3.สิทธิในการพัฒนา
      4.สิทธิในการมีส่วนร่วม

        ที่ผ่านมา บ้านเรามักจะให้ความสำคัญเรื่องสิทธิเด็กใน 2 ข้อแรก เรามักจะไม่ค่อยพูดถึง ข้อ 3 และ 4 โดยเฉพาะข้อ 3 ที่ถูกละเลย
     
      เรื่องสิทธิในการพัฒนาตนเองของเด็ก ระบุว่า เน้นทั้งด้านการพัฒนาทางร่างกายและสติปัญญา การพัฒนาทางด้านร่างกาย อนุสัญญาฯ เน้นที่การเลี้ยงดูเด็กโดยพ่อแม่หรือในบางกรณีโดยรัฐ และระบุแต่เด็กมีสิทธิที่จะมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่เพียงพอต่อการพัฒนาการของเด็กทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ศีลธรรม และทางสังคม เด็กมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุข และการตรวจรักษาเพื่อให้เด็กพ้นจากโรคภัยที่ป้องกันรักษาได้และไม่ให้โรคภัยดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการของเด็ก เด็กมีสิทธิที่ได้
       
      และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ สิทธิของเด็กที่จะได้รับการศึกษา อันเป็นพื้นฐานและมาตรการที่จำเป็นต่อการพัฒนาของเด็ก
     
      อนุสัญญาเน้นว่าเด็กมีสิทธิได้รับการศึกษาเพื่อให้เด็กได้พัฒนาบุคลิกภาพ ความสามารถพิเศษ และความสามารถทางด้านร่างกายและจิตใจของเด็ก ให้เต็มศักยภาพของเด็กแต่ละคน ให้เด็กได้พัฒนาความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เป็นการเตรียมเด็กให้มีชีวิตและมีความรับผิดชอบต่อสังคมที่เสรีด้วยจิตสำนึกแห่งความเข้าใจ สันติภาพ ความอดกลั้น ความเสมอภาคทางเพศ และมิตรภาพในหมู่มวลมนุษย์ไม่แยกว่าเป็นกลุ่มใด ทั้งให้มีความเคารพต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและเคารพต่อบิดามารดา เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ภาษาและค่านิยมต่างๆ ทั้งที่เป็นของตนเองและที่แตกต่างไป
      สิทธิในการศึกษานั้นอยู่บนพื้นฐานที่จะต้องให้เด็กมีโอกาสที่เท่าเทียมกัน โดยรัฐจะต้องจัดการศึกษาภาคบังคับในระดับชั้นประถมให้ทั่วถึง โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายจากเด็กทุกคน
       
      และต้องส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาในระดับขั้นมัธยมในรูปแบบที่หลากหลายและการศึกษาวิชาชีพ เพื่อให้เด็กทุกคนมีโอกาสที่เข้าศึกษาได้ โดยรัฐอาจจัดมาตรการที่เหมาะสม เช่น การจัดการศึกษาให้โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือจัดให้มีความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อการศึกษาในกรณีจำเป็นในด้านการศึกษาที่สูงกว่าชั้นมัธยมนั้น รัฐต้องจัดให้เด็กทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียมกันตามความสามารถทางสติปัญญาของเด็ก และรัฐต้องจัดมาตรการส่งเสริมให้เด็กมาเรียนโดยสม่ำเสมอและลดจำนวนเด็กที่ออกจากโรงเรียนกลางคั่น
       
      อนุสัญญาฯ ครอบคลุมถึงเด็กทุกคนที่อยู่ในเขตอำนาจของรัฐนั้น ไม่ว่าจะมีสัญชาติใดตามหลักการไม่เลือกปฏิบัติ ดังนั้น เด็กไม่ว่าจะมีสัญชาติใด และไม่ว่าการอยู่ในเขตอำนาจของรัฐนั้นจะมีสถานะที่ถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ก็มีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาภาคบังคับและมีสิทธิที่จะได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับการศึกษาที่สูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ
     
      การคุ้มครองเด็กเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งของชาติ หากปล่อยให้เด็กซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญที่สุดของประเทศชาติ ไม่ได้รับการเลี้ยงดูพัฒนาอย่างเต็มที่และเหมาะสม หรือถูกทำลาย ทำให้เสียประสิทธิภาพเป็นจำนวนมาก รัฐจะขาดกำลังสำคัญของมนุษย์ที่จะเติบโตขึ้นมาดูแลรักษาสังคมนั้นต่อไปในอนาคต
       
      สุดท้ายเด็กเหล่านี้อาจจะกลายเป็นบุคคลที่สังคมต้องใช้ทรัพยากรมาดูแลรักษาอีกต่างหาก
     
      ดังนั้น การกำหนดอนาคตของประเทศใดประเทศหนึ่งว่าจะเจริญรุ่งเรืองหรือตกต่ำ สามารถทำนายได้โดยศึกษาจากวิธีการปฏิบัติ การคุ้มครองสิทธิเด็ก และการพัฒนาเด็กในสังคมนั้นๆ ว่าได้ทำอย่างไร และจริงจังหรือไม่..!! เรื่องสิทธิเด็กในการพัฒนาตนเอง เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องตระหนัก และให้ความสำคัญอย่างจริงจัง โดยเฉพาะคนเป็นพ่อแม่ต้องให้ความใส่ใจ เพราะการมีชีวิตให้อยู่รอดเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่คำตอบเพียงพอสำหรับสังคมในยุคที่เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน และวิกฤตปัญหาสังคมในทุกวันนี้ซะแล้ว
     
      จะว่าไปแล้วประโยคที่ตั้งคำถามกับเด็กๆ ก็บอกเล่าเรื่องราว และเป็นดัชนีชี้วัดสังคมในช่วงขณะนั้นๆ ได้ในระดับหนึ่งทีเดียว ว่าแล้ว...คุณลองถามเด็กๆ รอบข้างคุณก็ได้ค่ะว่า “เมื่อโตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร”





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน 5 พฤศจิกายน 2551 07:56 น.

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง