[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

แนวทางการปฏิบัติธรรม

แนวทางปฏิบัติธรรม(version1) 
******************************

1. ปฐมกถา 

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง 

แนวทางปฏิบัติธรรมนี้ ไม่ใช่แนวทางที่ผู้เขียนคิดแต่งขึ้นด้วยความรู้ความสามารถใดๆ แต่เป็นพระธรรมคำสอนอันพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงไว้ดีแล้ว และผู้เขียนได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ มีหลวงปู่ดูลย์ อตุโล และหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นต้น 

การถ่ายทอดพระธรรมเหล่านี้เป็นการถ่ายทอดจากจิตสู่จิต เมื่อผู้เขียนได้รับการอบรมจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ให้เข้าใจจิตตนเองแล้ว ธรรมทั้งปวงเหล่านี้ก็เป็นอันว่าถูกเปิดเผยออกมาสู่จิตใจของผู้เขียน เมื่อสอบทานเทียบเคียงกับพระไตรปิฎกก็สอดคล้องกันเป็นอันดี 

สำหรับท่านผู้สนใจจะศึกษาธรรมเหล่านี้ ผู้เขียนขอเสนอแนะว่า ท่านจะทำความเข้าใจได้ด้วยการศึกษาจิตของตนเอง ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดเข้าใจได้ด้วยการอ่าน เพราะพระธรรมจะถ่ายทอดจากจิตสู่จิตได้เท่านั้น การอ่านและการฟังเป็นเพียงการแสวงหาแนวทางปฏิบัติ เพื่อผู้สนใจจะศึกษาเข้าไปที่จิตของตนเอง เมื่อท่านรู้แจ้งจิตของตนเองแล้ว ท่านจะพบขุมคลังแห่งพระธรรมทั้งมวลในที่นั้นด้วยตนเอง 

สันตินันทอุบาสก 

7 ตุลาคม 2535 

***************************************************** 

2. ความมุ่งหมาย 

พระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครูของเทวดาและมนุษย์ ทรงประกาศพระศาสนาด้วยพระมหากรุณาในพระหทัยอันบริสุทธิ์ ปรารถนาจะอนุเคราะห์สัตว์โลกผู้เร่าร้อนด้วยเพลิงทุกข์และเพลิงกิเลส ก็แล้วสัตว์โลกผู้ต้องการศึกษาพระพุทธศาสนาเล่า ถามตนเองหรือยังว่าปรารถนาความพ้นทุกข์ และพ้นจากความเร่าร้อนของเพลิงกิเลส หรือปรารถนาสิ่งอื่นใด อันไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของพระพุทธองค์ 

อาหารมีค่าสำหรับผู้หิวโหยฉันใด สัจธรรมมีค่าสำหรับผู้ปรารถนาความพ้นทุกข์ฉันนั้น แสงสว่างมีประโยชน์กับคนตาดีฉันใด สัจธรรมมีประโยชน์กับผู้มีปัญญา เห็นคุณค่าของสัจธรรมฉันนั้น 

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้โดยยาก หากต้องการพ้นทุกข์ก็พึงเข้ามาฟังธรรมของพระองค์ หากปรารถนาสิ่งอื่น ก็เชิญไปแสวงหาความน่าอภิรมย์ ณ ที่อื่นเถิด เพื่อให้โอกาสกับผู้ที่ต้องการพ้นทุกข์ จะได้ฟังธรรมโดยสะดวก 

3.ผู้บอกทาง 

การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานั้น ผู้ปฏิบัติต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง พระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์เป็นเพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น ไม่สามารถปฏิบัติแทนผู้หนึ่งผู้ใดได้เลย ดังนั้นจงลงมือปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าสอน โดยอย่าเสียเวลากับการขอพร การสวดมนต์ หรือแม้แต่พิธีกรรมใดๆ ทั้งสิ้น เว้นแต่การกระทำนั้นจะเป็นกำลังใจเพื่อการปฏิบัติของตน 

4.ตัดภาระทางใจ 

เมื่อคิดจะปฏิบัติธรรม พึงทำตนของตนให้ว่างจากภาระเครื่องรบกวนจิตใจทั้งมวล บุคคลผู้ถูกสะเก็ดไฟตกใส่ศีรษะ ย่อมพยายามดับไฟนั้น ก่อนที่จะทำสิ่งอื่นฉันใด ผู้ปฏิบัติต้องมุ่งปฏิบัติโดยไม่กังวลถึงสิ่งอื่นใด ตราบใดที่เพลิงทุกข์ เพลิงกิเลสยังแผดเผาอยู่บนศีรษะฉันนั้น จะปล่อยให้ความกังวลในสิ่งอื่นมาครอบงำจิตใจไม่ได้เลย 

พึงมีความมักน้อย สันโดษ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ชำระศีลของตนให้บริสุทธิ์หมดจด จนตนไม่อาจติเตียนตนเองได้ ไม่พูดมาก ไม่มักมากในการรับประทาน ไม่ปล่อยจิตใจให้ตกไปสู่ความซึมเซา คบหาบัณฑิตผู้เป็นกัลยาณมิตร จิตใจย่อมมีกำลังที่จะปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี 

5.ปริยัติธรรมที่น่าเรียนรู้ 

นักปฏิบัติบางท่านปฏิเสธการศึกษาปริยัติธรรม ทั้งที่การฟังคำแนะนำของครูบาอาจารย์ก็คือการศึกษาปริยัติธรรมนั่นเอง ดังนั้นไม่ควรรังเกียจปริยัติธรรม เพียงแต่ควรศึกษาด้วยความตระหนักชัดว่า ศึกษามิใช่เพื่อความรอบรู้ในพระพุทธศาสนา เพราะไม่มีผู้ใดเข้าใจพระพุทธศาสนาได้ด้วยสุตมัยปัญญา ศึกษามิใช่เพื่อนำความรู้ไปถกเถียงโอ้อวดกัน มิใช่เพื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดทั้งสิ้น นอกจากการศึกษาในลักษณะของการอ่านแผนที่ เพื่อการเดินทางที่ถูกต้องเท่านั้น 

ปริยัติธรรมที่ควรศึกษาสำหรับแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน มิฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าคงไม่ต้องทรงจำแนกแจกธรรมไว้มากมาย แต่ถึงแม้จะไม่มีหลักสูตรสำเร็จรูปอันเป็นสากลที่จะศึกษาเพื่อการปฏิบัติ อย่างน้อยที่สุดผู้จะปฏิบัติก็ควรทราบหลักธรรมเบื้องต้นบางประการ เพื่อมิให้ปฏิบัติผิดพลาดจนหลงไปสู่หนทางของมิจฉาทิฏฐิ 

ขอยกตัวอย่างหลักธรรมที่ควรศึกษาในเบื้องต้นโดยสังเขป เพื่อง่ายแก่การทำความเข้าใจเมื่อถึงภาคการปฏิบัติ แต่หากผู้ใดประสงค์จะเรียนธรรมเหล่านี้ให้แจ่มชัด ก็ขอให้ศึกษาเพิ่มเติมจากตำหรับตำราซึ่งมีอยู่มากแล้วเถิด 

6. ขอบเขตของพระพุทธศาสนา 

ผู้ปฏิบัติพึงทราบขอบเขตคำสอนของพระพุทธศาสนา ว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนเฉพาะเรื่องทุกข์ กับการดับทุกข์ การแสวงหาความรู้นอกขอบเขตนี้ ควรแสวงหาที่อื่น ไม่ใช่ด้วยการปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนา 

ผู้ปฏิบัติพึงทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องทางสายกลาง ผู้ปฏิบัติพึงระมัดระวังที่จะไม่ตกไปสู่ความสุดโต่งในทุกๆ เรื่อง เช่นเรื่องความมีกับความไม่มี ดังตัวอย่างคือ ผู้ปฏิบัติบางท่านสอนว่าพระพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ในโลกนิพพาน หรือดำรงอยู่ในรูปของพระแก้วใสหน้าตักขนาดนั้นขนาดนี้ เข้านิโรธสมาบัติอยู่ บางท่านสอนว่าพระพุทธเจ้าทรงดับสูญไปแล้ว บางท่านคิดว่ามนุษย์และสัตว์มีอยู่ บางท่านคิดว่ามนุษย์และสัตว์ไม่มี เป็นต้น 

บางท่านสุดโต่งในการปฏิบัติด้วยการถือศีลอย่างเคร่งครัด จนเป็นการบำเพ็ญตบะนอกพระพุทธศาสนา บางท่านปล่อยตัวปล่อยใจระเริงไปกับโลก โดยคิดว่าเมื่อปฏิบัติไปเรื่อยๆ จิตใจจะพัฒนาไปเอง โดยไม่ต้องอาศัยศีลและความสำรวมระวัง 

บางท่านปฏิเสธการทำสมถภาวนา โดยเห็นว่าเป็นเรื่องนอกพระพุทธศาสนา ทั้งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องสมถภาวนาไว้ไม่น้อย บางท่านบำเพ็ญฌาน ดูดดื่มในฌานสุขอันหาสุขอื่นเปรียบได้ยาก 

7. ขันธ์ 

ผู้ปฏิบัติควรรู้จักขันธ์ 5 อันประกอบเป็นร่างกายและจิตใจของตน คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ 

รูป คือส่วนที่รู้เห็นได้เป็นรูปธรรม หากเป็นมนุษย์ก็คือร่างกายนี้ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณเป็นส่วนของนามธรรม 

เวทนา คือส่วนที่เป็นความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ และรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ 

สัญญา คือความจำได้หมายรู้ คือจำรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และอารมณ์ได้ 

สังขาร คือความคิดนึกปรุงแต่งของจิต ซึ่งดีบ้าง ชั่วบ้าง เป็นกลางบ้าง 

วิญญาณ คือความรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ 

ขันธ์ 5 นี้เมื่อประกอบกันเข้า ผู้ไม่เข้าใจสัจธรรม จะหมายรู้ในภาพรวม แล้วสำคัญมั่นหมายว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา 

8. อายตนะ 

ผู้ปฏิบัติควรรู้จักอายตนะ 6 อายตนะคือเครื่องเชื่อมต่อจิตให้รู้โลก ได้แก่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ หากปราศจากอายตนะเหล่านี้ จิตจะสัมผัสกับโลกไม่ได้เลย 

อายตนะเป็นทางเดินของกิเลส และเป็นทางเดินของปัญญาด้วย เพราะกิเลสและปัญญา จะเกิดได้ก็ด้วยการที่จิตรู้อารมณ์ ซึ่งต้องรู้ผ่านอายตนะ 

9. อริยสัจ 

ผู้ปฏิบัติควรรู้จักอริยสัจ 4 คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค 

ทุกข์ ได้แก่ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา ความไม่สมปรารถนา ความโศกเศร้ารำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความรู้สึกเหี่ยวแห้งใจ และความคับแค้นใจ เป็นต้น บรรดาทุกข์เหล่านี้มีได้ก็เพราะมีขันธ์ทั้ง 5 นั่นเอง คือถ้าไม่มีกาย ก็ไม่มีความแก่ เจ็บ ตาย และความพลัดพราก เป็นต้น ถ้าไม่มีเวทนา ก็ไม่มีความเจ็บปวด ถ้าไม่มีสัญญาและสังขาร ก็ไม่มีความเศร้าโศก ถ้าไม่มีวิญญาณ กายนี้ก็เหมือนท่อนไม้ ไม่สามารถรู้อารมณ์ใดๆ ได้ 

ลำพังขันธ์แท้จริงยังไม่ใช่ตัว ''ทุกข์ในอริยสัจจ์'' หากแต่ต้องมีจิตเข้าไปยึดถือครอบครองขันธ์นั้น จึงจะเป็นทุกข์ได้ ท่านจึงกล่าวรวบย่อว่า ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือทุกข์ 

สมุทัย คือต้นเหตุให้ทุกข์ถูกต้องกระทบกระเทือนเข้าถึงจิต จนจิตเป็นทุกข์ โดยธรรมชาติแม้ขันธ์จะเป็นทุกข์ ก็เป็นโดยสามัญลักษณะคือมีความไม่คงทน ขันธ์ก็มิได้เกี่ยวข้องอันใดกับจิต แต่สมุทัยอันได้แก่ตัณหา หรือความทะยานอยากของจิตนั่นเอง เป็นต้นเหตุให้จิตเข้าไปยึดถือขันธ์ แล้วเกิดความรู้สึกว่า เรามีอยู่ ขันธ์ของเรามีอยู่ สิ่งต่างๆ ของเราก็มีอยู่ จิตที่เป็นตัวตนนั้นก็เป็นทุกข์ในอันดับแรกแล้ว และเมื่อสิ่งที่จิตเข้าไปยึดถือ มีความแปรปรวน หรือไม่สมปรารถนา จิตก็เกิดความทุกข์ซ้ำซ้อนเข้าทับถมจิตอีก 

ส่วนนิโรธและมรรคเป็นธรรมคู่ปรับกับทุกข์และสมุทัย คือมรรคเป็นเครื่องทำลายสมุทัย เมื่อจิตปราศจากตัณหาคือความอยากแล้ว จิตก็ไม่เข้ายึดถือสิ่งใด นิโรธ คือความดับสนิทแห่งทุกข์ก็เกิดขึ้นในที่นั้น 

10. กิจต่ออริยสัจ 

ทุกข์อริยสัจ คือตัวอุปาทานขันธ์นั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เรากำหนดรู้ คือรู้ เท่าที่ปรากฏเป็นจริง ท่านไม่ได้สอนให้พวกเราละความทุกข์นั้น เพราะขันธ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วด้วยกรรมเก่า สุดวิสัยที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ เพียงแต่ต้องคอยบำบัดทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นคราวๆ ไป เช่นเมื่อหิวต้องให้อาหาร เมื่อง่วงต้องนอน เมื่อป่วยไข้ต้องรักษาเยียวยา เพื่อเป็นเครื่องอาศัยปฏิบัติธรรมต่อไป 

สมุทัย คือตัณหานั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราละเสีย เพื่อจิตจะได้ไม่เกิดความทุกข์อันเนื่องจากความยึดถือในขันธ์ จิตก็จะเป็นอิสระ หรือเรียกว่าจิตหลุดพ้นจากทุกข์คืออุปาทานขันธ์ก็ได้ 

นิโรธ คือความดับสนิทของทุกข์ในจิต เพราะจิตปราศจากตัณหา จะเรียกว่าวิมุติคือจิตหลุดพ้นก็ได้ เรียกว่าวิราคะคือจิตปราศจากความผูกพันกับอารมณ์ก็ได้ เรียกว่าอนาลยะคือจิตไม่อาลัยในอารมณ์ก็ได้ กิจต่อนิโรธคือการทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง 

มรรค คือหนทางเพื่อความดับสนิทแห่งทุกข์ในจิต กิจต่อมรรคคือการทำให้มาก ทำให้เจริญงอกงามไพบูลย์ มรรคมีหนึ่ง แต่มีองค์ประกอบจำแนกได้ 8 ประการ หนึ่งคืออะไร ? หนึ่งคือ รู้ องค์ประกอบ 8 ประการได้แก่อะไรบ้าง ? ได้แก่ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ ความเพียรชอบ สติชอบ และสมาธิชอบ 

การทำความเข้าใจกับองค์ประกอบทั้ง 8 เป็นเรื่องสมควร แต่ผู้สนใจสามารถแสวงหาตำราศึกษาได้ไม่ยาก ในที่นี้จึงจะให้ความสำคัญในการศึกษามรรคที่เป็นหนึ่ง 

ที่ว่า “รู้” นั้นคือสภาวะอย่างใด ? “รู้” คือสภาวะที่จิตเป็นตัวของตัวเอง มีความรู้ตัวคือสัมปชัญญะ และมีสติว่องไวรู้เท่าทันปัจจุบันอารมณ์ที่กำลังปรากฏทางอายตนะ ความมีสัมปชัญญะและสติจะส่งผลให้จิตมีคุณภาพยิ่งขึ้น จิตจึงมีศีล คือ ความเป็นปกติ ไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ มีสมาธิ คือ ความตั้งมั่น ไม่หลงเลื่อนไหลไปตามอารมณ์ มีปัญญา คือ ความรอบรู้เท่าทัน สามารถแยกแยะอารมณ์ อันเป็นสิ่งแปลกปลอมออกจากจิตได้ ดังจะได้อธิบายสาระสำคัญต่อไปข้างหน้าในภาคปฏิบัติ 

11. สามัญลักษณะ 

ได้กล่าวถึงสามัญลักษณะของทุกข์ หรือของขันธ์ไว้ในตอนต้นบ้างแล้ว บัดนี้จะได้ขยายความสามัญลักษณะซึ่งเป็นธรรมชาติสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ควรทราบ สามัญลักษณะคือลักษณะทั่วไป หรือลักษณะร่วมของสิ่งทั้งปวง มี 3 ประการ จึงเรียกว่าไตรลักษณ์ก็ได้ ประกอบด้วยอนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ และอนัตตลักษณะ 

อนิจจลักษณะ คือลักษณะความไม่คงที่ หรือความไม่เที่ยง ของขันธ์และสิ่งที่มีเหตุปรุงแต่งให้เกิดขึ้น(สังขารธรรม) 

ทุกขลักษณะ คือลักษณะที่สังขารธรรม ไม่อาจคงทนอยู่ได้ในสภาวะใดสภาวะหนึ่ง 

อนัตตลักษณะ คือลักษณะที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่เป็นสิ่งปรุงแต่ง(สังขาร) และสิ่งที่พ้นจากความปรุงแต่ง (วิสังขาร) ไม่มีอัตตาตัวตนที่แท้จริงอย่างหนึ่ง และไม่ใช่ตัวตนที่สามารถบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาได้ อีกอย่างหนึ่ง 

อนิจลักษณะและทุกขลักษณะเป็นสิ่งที่มองเห็นง่าย เข้าใจง่าย แต่อนัตตลักษณะเป็นสิ่งที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งได้ยาก เพราะความเป็นอนัตตามีความลึกซึ้งมาก เราจะเข้าใจอนัตตลักษณะได้ชัดเจนขึ้น หากเข้าใจทัศนะเกี่ยวกับอัตตาของพราหมณ์ 

พราหมณ์เชื่อว่ามนุษย์มีอัตตาเป็นสิ่งถาวรไม่มีสิ่งใดทำลายได้ เมื่อร่างกายแตกดับลง อัตตาไม่ตายไปพร้อมกับร่างกาย แต่จะไปเกิดหมุนเวียนไปอย่างไม่สิ้นสุด จนกว่าจะเข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า หรือบรมอัตตา(ปรมาตมัน) 

ส่วนพระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธความเชื่อเรื่องอัตตา เพราะพระองค์ทรงรู้แจ้งแทงตลอดว่าร่างกายและจิตใจนี้ เป็นสิ่งที่อาศัยเหตุปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป จะหาสิ่งใดมั่นคง ถาวร หรือเป็นตัวตนที่แท้จริงไม่ได้เลย กระทั่งจิต ก็เป็นสิ่งที่เกิดดับต่อเนื่องกันไปอย่างรวดเร็ว น่าแปลกใจยิ่งที่ “ชาวพุทธ” ส่วนมากเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ในลักษณะที่พราหมณ์เชื่อ คือเชื่อว่าเมื่อร่างกายตายลง วิญญาณจะออกจากร่างไปเกิดใหม่ อันเป็นความเชื่อว่าวิญญาณเป็นอัตตา คือถาวรเป็นอมตะ ทั้งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา 

คำว่าสิ่งทั้งปวงนั้น มีความหมายรวมถึงสิ่งที่เป็นสังขารธรรม อันได้แก่สิ่งที่มีเหตุปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เช่นขันธ์ทั้ง 5 และรวมถึงสิ่งที่พ้นจากความปรุงแต่งหรือวิสังขารธรรม คือนิพพานด้วย สิ่งที่เป็นสังขารธรรมนั้น มันเป็นของที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ผู้เจริญสติปัฏฐานจะเห็นขันธ์แต่ละขันธ์เกิดดับต่อเนื่องกันไปเสมอตามเหตุปัจจัย กระทั่งจิตก็ไม่ใช่ตัวตนที่ถาวร เพราะเกิดดับอยู่เสมอพร้อมกับอารมณ์ ความสำคัญว่าจิตเป็นตัวตนของตน เกิดจากความคิดนึกปรุงแต่งเท่านั้น 

หากหยุดความคิด เหลือแต่ ''รู้'' ล้วนๆ จะเห็นชัดว่า จิตไม่ใช่ตัวตน หรือตัวเรา ไม่สามารถบังคับให้เป็นไปตามใจปรารถนาได้ สำหรับวิสังขารธรรม หรือนิพพานนั้น ก็เป็นอนัตตา เพราะนิพพานไม่ใช่สิ่งที่ใครจะบังคับบัญชาให้เป็นไปตามความปรารถนาได้ เช่นจะสั่งให้นิพพานปรากฏต่อผู้นั้นผู้นี้ก็ไม่ได้ นิพพานจึงเป็นอนัตตาโดยนัยที่ว่าไม่ใช่ตัวตน ที่สามารถบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาได้ 

กล่าวโดยสรุปในแง่มุมของผู้เจริญมหาสติปัฏฐานแล้ว ทั้งขันธ์ ทั้งนิพพาน และทั้งจิตผู้รู้ขันธ์และนิพพาน ต่างก็เป็นอนัตตา กล่าวคือสิ่งที่เป็นความปรุงแต่ง เช่นขันธ์ทั้ง 5 เป็นอนัตตา โดยความไม่มีตัวตนถาวร เพราะมันเกิดดับอยู่ตลอดเวลา โดยความเป็นสิ่งที่ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ตามใจปรารถนา และโดยความเป็นสิ่งที่ถูกรู้ จึงไม่ใช่ตัวเรา ส่วนนิพพานก็เป็นอนัตตา เพราะไม่อยู่ในอำนาจที่ใครจะควบคุมบังคับได้ดังปรารถนา และเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้เช่นกัน จึงไม่ใช่ตัวเราผู้รู้ ผู้ดูอยู่ ส่วนตัวจิตผู้รู้ ผู้ดูอยู่นั้น ก็ไม่ได้สำคัญมั่นหมายว่า จิตเป็นตัวเรา ความรู้สึกเป็นตัวเราของจิต เกิดจากความคิดนึกปรุงแต่งเท่านั้นเอง 

อนึ่ง “ชาวพุทธ” บางคนฟังคำสอนของพระศาสดาโดยสะเพร่า เข้าใจว่าอนัตตาคือความขาดสูญ เช่นตายแล้วสูญ การเวียนว่ายในสังสารวัฏไม่มี ก็นับเป็นความสุดโต่งอีกด้านหนึ่ง ตรงข้ามกับความคิดเรื่องการมีตัวตนอย่างถาวร 12. ปฏิจจสมุปบาท 

ธรรมอันลึกซึ้งที่สุด มีแต่พระอริยเจ้าจึงเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งได้ คือปฏิจจสมุปบาท หรือปัจจยาการ ปฏิจจสมุปบาทเป็นกระบวนการแห่งความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับอารมณ์ เป็นขั้นตอนการดำเนินของจิตซึ่งเข้ายึดถืออารมณ์แล้วเกิดทุกข์ขึ้น และเป็นกระบวนการที่แสดงถึงความดับทุกข์ด้วย 

กระบวนการของความทุกข์เริ่มต้นจากจิตอันประกอบด้วยอวิชชา คือจิตที่ไม่รู้อริยสัจ 4 มีลักษณะเป็นจิตที่ส่งออกนอก รู้ออกไปภายนอก เป็นจิตเข้าคู่กับความว่าง จิตชนิดนี้ไม่มองตนเอง ไม่รู้จักตนเอง เพราะจิตไม่รู้ว่า การส่งออกจะนำทุกข์มาให้ จิตอวิชชาเป็นจิตที่ผ่องใสประภัสสรเพราะยังไม่ปรุงแต่งอารมณ์ แต่ไม่บริสุทธิ์ มีความไม่รู้คืออวิชชากางกั้นญาณทัศนะของจิต ไม่ให้มองย้อนเข้าไปรู้จิตอย่างแจ่มแจ้งได้ 

เมื่อจิตไม่สามารถรู้จิตอย่างแจ่มแจ้งได้ จิตก็ต้องมองออกไปภายนอก ซึ่งเป็นปัจจัยให้ความปรุงแต่งต่างๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความปรุงแต่งฝ่ายชั่ว ฝ่ายดี แม้กระทั่งความปรุงแต่งฝ่ายความตั้งมั่นคือฌานสมาบัติทั้งหลาย เมื่อความปรุงแต่งเกิดขึ้น จิตก็ยิ่งถูกห่อหุ้มปกปิดมากขึ้น คือชั้นในถูกแทรกด้วยอวิชชา ชั้นกลางถูกปกปิดด้วยความปรุงแต่ง และใจเมื่อกระทบความคิดนึกปรุงแต่ง ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิด วิญญาณทางใจ เป็นสิ่งห่อหุ้มปกปิดจิตไว้เป็นชั้นนอก 

กระแสของวิญญาณหยั่งลงที่รูป รูปก็ปรากฏ กระแสวิญญาณหยั่งลงที่นาม นามก็ปรากฏ เมื่อรูปนามปรากฏแล้ว อายตนะภายในคือ ตา หู ฯลฯ ย่อมปรากฏ อาศัยอายตนะภายในกระทบกับอายตนะภายนอกคือ รูป เสียง ฯลฯ ย่อมเกิดความรับรู้ คือวิญญาณทางตา ทางหู เป็นต้น 

จากนั้นความคิดนึกปรุงแต่งก็เกิดขึ้น ความคิดเมื่อกระทบเข้ากับใจย่อมเกิดความรับรู้ หรือวิญญาณทางใจ เมื่อมีวิญญาณทางใจแล้ว ความหยั่งรู้เวทนาย่อมเกิดขึ้น เมื่อจิตรู้เวทนาแล้ว สัญญาย่อมทำงานตีค่าของเวทนานั้น เมื่อสัญญาตีค่าของเวทนานั้นแล้ว ความคิดนึกปรุงแต่งไปตามสัญญาเวทนานั้นๆ ย่อมเกิดขึ้น ความคิดนึกปรุงแต่งนั้นเองเป็นปัจจัยให้กุศล หรืออกุศลหรือกิเลส ทำงาน แล้วจิตก็เกิดความทะยานอยากไปสู่อารมณ์นั้นๆ อันปรากฏทางอายตนะ นั่นแหละคือตัณหาอันเป็นตัวสมุทัย 

อาการที่จิตทะยานอยากไปในอารมณ์นั้นมี 3 ลักษณะ คือทะยานไปผูกพันพึงใจกับอารมณ์ทาง ตา หู จมูก ลิ้น และกาย เรียกว่า กามตัณหา ความทะยานไปตามอารมณ์ทางใจ ผูกพันกับอารมณ์ทางใจ เรียกว่า ภวตัณหา และความทะยานไปต่อต้านปฏิเสธอารมณ์ต่างๆ เรียกว่า วิภวตัณหา 

เมื่อจิตทะยานไปสู่อารมณ์แล้ว จิตย่อมยึดถืออารมณ์นั้น ความยึดถือนั้นคืออุปาทาน เมื่อจิตยึดถืออารมณ์ จิตย่อมหลงรวมอยู่กับอารมณ์ นั่นคือภพ ภพทั้งหลายทั้งปวงล้วนแต่เป็นเรื่องของจิตที่หลงอยู่กับอารมณ์ทั้งสิ้น 

เมื่อจิตหลงอยู่กับอารมณ์ ความรู้สึกว่า จิตคือตัวเราผู้เสวยอารมณ์ ย่อมเกิดขึ้น เมื่อจิตมีความเป็นตัวตนขึ้นมา ความทุกข์เพราะความเป็นตัวตนย่อมเกิดขึ้น จิตมีอาการหนัก เป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นจริงเป็นจัง แล้วจิตก็ยิ่งทุกข์มากขึ้น เมื่อขันธ์ที่จิตครอบครองอยู่นั้นมีความแปรปรวน มีความไม่สมปรารถนาด้วยความ แก่ เจ็บ ตาย ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความประสบกับสิ่งที่ไม่รัก และความไม่สมปรารถนาต่างๆ นี่เองคือกระบวนการให้ความทุกข์เกิดขึ้น 

เพราะอวิชชาดับไม่เหลือ คือจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งแทงตลอดในจิต สังขารคือความปรุงแต่งจึงดับไม่เหลือ และไม่อาจเชื่อมโยงก่อภพก่อชาติ หรือความยึดมั่นว่าจิตเป็นตัวตนของตน ขึ้นได้อีก จิตก็ถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้น ความพ้นทุกข์มีได้ ก็ด้วยกระบวนการอย่างนี้เอง 13. หลักการปฏิบัติธรรม 

การปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนามี 2 อย่างคือ สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา ผู้ศึกษาปริยัติธรรมบางคนปฏิเสธการเจริญสมถภาวนา โดยอ้างว่าเป็นเรื่องนอกพระพุทธศาสนา มีมาก่อนพระพุทธศาสนา แท้จริงการเกิดก่อนหรือเกิดในพระพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องสำคัญ ที่สำคัญก็คือพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนเรื่องสมถภาวนาไว้มาก ในพระสูตรชื่อ อาคันตุกาคาร สังยุตนิกาย มหาวารวรรค ทรงสอนอย่างชัดเจนว่าธรรมที่ควรเจริญคือ สมถะและวิปัสสนา ก็แล้วบรรดาผู้ศึกษาศาสนาในรุ่นหลัง ควรหรือจะถือดีว่าสมถภาวนาเป็นสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ 

14. เครื่องจำแนกระหว่างสมถะกับวิปัสสนา 

ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างไม่รอบคอบ หลงเชื่อตามคัมภีร์รุ่นหลังว่ากรรมฐาน 40 เป็นอารมณ์ของสมถภาวนา ส่วนการกำหนดรู้รูปนามเป็นการเจริญวิปัสสนา ตัวอย่างของการเจริญกรรมฐาน 40 ได้แก่การเจริญอนุสติ 10 ประการ เช่นพุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ อานานปานสติ และกายคตาสติ เป็นต้น หากย้อนไปศึกษาพระไตรปิฎกอย่างจริงจังจะพบว่า พระผู้เป็นดวงประทีปแก้วของโลกทรงประกาศธรรมอย่างชัดเจน ในพระสูตรชื่อ เอกธัมมาทิบาลี เอกนิบาต อังคุตรนิกาย สุตตันตปิฎก (พระไตรปิฎกเล่มที่ 20 หัวข้อที่ 179 - 180) มีความว่าการเจริญพุทธานุสติ ฯลฯ ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย เป็นไปเพื่อคลายความกำหนัด เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ยิ่ง เป็นไปเพื่อพระนิพพาน 

หากเราผู้เป็นสาวกจะเชื่อฟังพระพุทธเจ้ายิ่งกว่าตำราชั้นหลัง เราย่อมได้ข้อสรุปว่า อนุสติ 10 ย่อมเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ และแท้ที่จริงอนุสติ 10 ก็ไม่ได้อยู่นอกเหนือจากรูปนามขันธ์ 5 เพราะอนุสติ 10 เป็นความคิด ซึ่งจัดอยู่ในสังขารขันธ์นั่นเอง ในชั้นนี้จึงอยากสรุปว่าเป็นความไม่ถูกต้อง ที่ไปจำแนกสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนาด้วยอารมณ์กรรมฐาน 

ถ้าเช่นนั้นเราจะจำแนกสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนาด้วยสิ่งใด? เราน่าจะจำแนกด้วย ลักษณะการดำเนินจิต ยิ่งกว่าด้วยอารมณ์กรรมฐาน จิตจะรู้สิ่งใดก็ได้ หากรู้ด้วยความมี สติ จดจ่อในอารมณ์อันเดียว นั่นคือการเจริญสมถภาวนา หากจิตรู้สิ่งใดด้วยความมี สติและสัมปชัญญะ นั่นคือการเจริญวิปัสสนา 

ฉะนั้น ถ้าจิตมีสติอย่างเดียวจดจ่อกับพุทธานุสติ นั่นเป็นการเจริญสมถภาวนา หากจิตมีสติระลึกรู้พุทธานุสติโดยในขณะนั้นจิตมีความรู้ตัว ไม่ส่งกระแสออกนอก คือไม่หลงไปกับพุทธานุสติ นั่นคือการเจริญพุทธานุสติที่เป็นวิปัสสนาภาวนา 

การเจริญสติอย่างเดียวเป็นสิ่งที่กระทำได้ แต่การเจริญสัมปชัญญะอย่างเดียวทำไม่ได้ ฉะนั้นการทำสมถภาวนาอย่างเดียวกระทำได้ เพราะเหตุใด ? เพราะการเจริญสติโดยระลึกรู้อารมณ์กระทำได้ แม้ในขณะที่จิตหลงเพลินอยู่กับอารมณ์กรรมฐานนั้น ส่วนการเจริญสัมปชัญญะคือการเจริญความไม่หลงของจิตนั้น 

นอกจากจิตจะรู้ตัวแล้ว จิตย่อมต้องมีสติรู้ปัจจุบันอารมณ์ที่ปรากฏด้วย เนื่องจากจิตกับอารมณ์เป็นของคู่กัน เมื่อจิตไม่หลงเสียแล้วย่อมต้องรู้อารมณ์ตามความเป็นจริง 

15. หลักการของสมถภาวนา 

หลักการเจริญสมถภาวนา คือการรู้อารมณ์อันใดอันหนึ่งโดยต่อเนื่อง เมื่อจิตจะรวมลงเป็นสมถะนั้นจิตย่อมปราศจากความตั้งใจที่จะให้จิตสงบ หากมีความอยากให้จิตสงบแม้เพียงเล็กน้อย จิตจะไม่สงบเลย 

16. ประเภทของสมถภาวนา 

ความสงบหรือสมถภาวนามี 2 ประเภท คือสมถภาวนานอกพระพุทธศาสนา ซึ่งหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี สมมุติเรียกว่า ฌาน และสมถภาวนาในพระพุทธศาสนา ซึ่งท่านเรียกว่า สมาธิ ในที่นี้จะขอยืมศัพท์บัญญัติของหลวงปู่เทสก์มาใช้ เนื่องจากท่านจำแนกเรื่องนี้ไว้อย่างแจ่มชัดกว่าท่านผู้รู้อื่นในยุคนี้ 

การทำฌานนั้น ใช้การทำสติระลึกรู้อารมณ์อันเดียว เมื่อจิตจะรวมเข้าเป็นฌานนั้น จิตจะมีความอ่อนแอท้อถอย จิตประกอบด้วยราคะ คือความอ้อยสร้อยอ้อยอิ่งถึงความสุขของความสงบ แล้วรวมเข้าไปพักอยู่เฉยๆ อาการเข้าพักของฌานมี 3 ลักษณะ อย่างแรกจิตรวมเข้าเพียงวูบเดียวแล้วถอนออก ในขณะที่จิตรวมลงนั้น จิตลืมตัวหายไปชั่วขณะ อย่างที่ 2 จิตรวมแล้วถอยออกมาเล็กน้อย จิตมีอาการส่ายไปมา คล้ายคนนอนหลับแล้วฝันไป อย่างที่ 3 จิตรวมแล้วหายเงียบไปเป็นเวลานานๆ 

ฌานเป็นที่พักของจิต แต่เป็นที่พักที่ไม่เกื้อกูลต่อปัญญา ต่างจากสมาธิซึ่งก็รู้อารมณ์อันเดียวกับฌานนั่นเอง แต่สมาธิ ประกอบไปด้วยสัมปชัญญะคือความรู้ตัว เป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการเจริญวิปัสสนา ควบคู่กับสติ 

สมาธิก็จำแนกได้ 3 อย่างเช่นกัน อย่างแรกคือ ขณิกสมาธิ หรือสมาธิชั่วขณะ เป็นอาการที่จิตซึ่งกำลังเจริญวิปัสสนา (คือรับรู้ความเกิดดับของอารมณ์ที่กำลังปรากฏ ด้วยความไม่หลงไปตามอารมณ์) ได้วางอารมณ์ แล้วรวมสงบเข้ามาเหลือแต่ความรู้ตัวอันเดียว ในขณะนั้นจิตไม่สนใจอารมณ์ใดๆ จึงไม่ปรากฏกระทั่งโลกธาตุทั้งปวง แต่เป็นการรวมสงบเข้ามาเพียงชั่วขณะจิตเดียว 

สมาธิอย่างที่ 2 คือ อุปจารสมาธิ มีผู้เข้าใจผิดว่า อุปจารสมาธิเป็นสภาวะที่จิตเฉียดๆ หรือใกล้จะเป็นสมาธิ ความเข้าใจนั้นไม่ถูกต้อง เพราะอุปจารสมาธินั้น จิตเป็นสมาธิแล้ว คำว่า “อุป” ไม่ได้แปลว่าใกล้ แต่แปลว่า “เข้าไป” ส่วน “จาระ” คือการประพฤติปฏิบัติ อุปจารสมาธิ คือสมาธิที่จิตเข้าไปประพฤติปฏิบัติ คือเจริญวิปัสสนานั่นเอง มีอาการที่จิตรับรู้อารมณ์อันเดียว โดยไม่ต้องควบคุมบังคับทั้งจิตและอารมณ์ มีความสงบสุข รักที่จะเรียนรู้ศึกษาค้นคว้าภายในกายในใจของตน จิตจะรู้อารมณ์ชัดเจนบ้าง จางลงบ้าง ธรรมใดมีกระทบจิต จิตจะหยั่งรู้ธรรมนั้นอย่างลึกซึ้ง เมื่อจิตถอนออกจากสมาธินั้นแล้ว จิตอาจจะจดจำข้อธรรมนั้นได้ หรือไม่จดจำก็ได้ ถ้าจิตไม่จดจำ เราจะนึกถึงความรู้ความเข้าใจภายในจิตไม่ได้เลย ความรู้นั้นจิตจะรับรู้อย่างลึกซึ้ง แต่เราไม่รู้เลยก็ได้ 

สมาธิอย่างที่ 3 คือ อัปปนาสมาธิ เป็นสภาวะที่จิตมีความรู้ตัว แต่ไม่ออกรู้อารมณ์ภายนอก เกิดขึ้นหลังจากที่จิตดำเนินวิปัสสนามาแล้วอย่างโชกโชน อัปปนาสมาธิเป็นอารมณ์เหมือนผู้ใหญ่ที่ทำงานเสร็จ แล้วหยุดพักผ่อนอย่างอิ่มใจ ไม่ใช่การพักอย่างเด็กที่เล่นจนเหนื่อย แล้วพักอย่างอาการของฌาน การพักในอัปปนาสมาธินั้น หากปัญญายังไม่แก่รอบ จะเป็นการพักเพื่อกลับมาทำวิปัสสนาต่อไป แต่หากจิตดำเนินวิปัสสนาจนปัญญาแก่รอบแล้ว จิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิเพื่อรวมกำลัง แล้วถอยออกมาบรรลุโลกุตรธรรมเลย 

ที่กล่าวมานี้ เป็นการจำแนกเรื่องฌานกับสมาธิ ตามแนวของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี อันจะมีประโยชน์ต่อไปเมื่อกล่าวถึงเรื่องนิมิต และวิปัสนูปกิเลส 

17. สมาบัติ 9 

อัปปนาสมาธิ คือสมาธิอันหนักแน่นมั่นคง จำแนกความละเอียดลึกซึ้งได้ 3 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นรูปฌาน 4 ขั้น อรูปฌาน 4 ขั้น และยังมีสัญญาเวทยิตนิโรธอีกอย่างหนึ่ง รวมเรียกว่า สมาบัติ 9 และคำว่าฌานที่จะกล่าวถึงในที่นี้ หมายถึงฌานที่เป็นสัมมาสมาธิ หรือสิ่งที่หลวงปู่เทสก์เรียกว่า สมาธินั่นเอง 

การดำเนินรูปฌาน 4 ในทางพระพุทธศาสนานั้น ทำไปเพื่อความมีสติสัมปชัญญะ และความอยู่สงบสุขในปัจจุบัน ในเบื้องต้นจะใช้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นอารมณ์ก็ได้ ให้ทำสติระลึกรู้อารมณ์นั้นไปเรื่อยๆ อย่าอยากให้จิตสงบ หรืออยากรู้เห็นสิ่งใดๆ เมื่อจิตจะรวมเข้าสู่ปฐมฌานนั้น ผู้ไม่ชำนาญอาจรู้สึกเหมือนตกวูบลง แต่เมื่อชำนาญแล้วจิตจะรวมลงอย่างนิ่มนวล มีสติ จิตจะสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ 

บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตภายใน มีธรรมอันเอกคือตัวรู้ผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไ





http://wittawatpage.hypermart.net/SantiTham/index03_01.shtml


โดย:
งาน: งานห้องสมุด
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: http://www.school.net.th/index.php3

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง