[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

โรคพืช

        โรคพืช (Plant Pathology)
สาเหตุโรคพืช (causing agents) 
          การที่พืชแสดงอาการเจริญเติบโตผิดปกติเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมักเรียกว่าพืชนั้นเป็นโรค ซึ่งเกิดได้จากสาเหตุต่าง ๆ กัน ทั้งที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมาก ได้แก่  เชื้อโรค หรือจุลินทรีย์ชนิดต่าง ๆ เช่น เชื้อรา (fungi), แบคทีเรีย (bacteria), ไส้เดือนฝอย (nematode),  ไฟโตพลาสมา (phytoplasma), ไวรัส (virus), ไวรอยด์ (virord) เป็นต้น และสาเหตุที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต ได้แก่ สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการปลูกพืชนั้น ๆ ไม่เหมาะสม หรือมีความผิดปกติผันแปรไปในลักษณะต่าง ๆ เช่น ปุ๋ยหรือธาตุอาหาร น้ำ สภาพภูมิอากาศ เป็นต้น โรคพืชที่เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นเชื้อโรคอาจเรียกว่าโรคติดเชื้อหรือโรคระบาด และโรคพืชที่เกิดจากสภาพแวดล้อม เรียกว่าโรคไม่ติดเชื้อหรือโรคที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต 
  
      โรคพืชติดเชื้อหรือโรคระบาด (Infectious diseases)
พืชเป็นโรค (Diseased plants) ในที่นี้จะหมายถึง พืชทื่แสดงอาการผิดปกติไป ทั้งในด้านสัณฐานวิทยา (Morphology) และ สรีรวิทยา (Physiology) ที่สามารถแพร่ระบาดจาก ดิน เศษซากพืชที่เป็นโรค หรือสปอร์ในอากาศไปยังพืชปกติได้ โดยมีสาเหตุมาจากเชื้อจุลินทรีย์ชนิดต่าง ๅ ได้แก่ เชื้อราสาเหตุโรค, เชื้อแบคทีเรีย, ไส้เดือนฝอยศัตรูพืช เชื้อไวรัส 
       เชื้อราสาเหตุโรคพืช ลักษณะของเชื้อราทั่วไปจะเป็นเส้นใยคล้ายเส้นด้ายละเอียด เส้นใยแต่ละเส้นมีขนาดเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น จะเห็นได้เมื่อมีการเจริญเป็นกลุ่มก้อนหรือเป็นกลุ่มโคโลนีของเส้นใย เชื้อราสาเหตุโรคพืชส่วนใหญ่สร้างหน่วยขยายพันธุ์เรียกว่า สปอร์ เพื่อใช้ในการแพร่ระบาดและการมีชีวิตรอดในระบบนิเวศ สปอร์ของเชื้อรามีหน้าที่คล้ายเมล็ดพันธุ์พืช นั่นคือพร้อมที่จะเจริญและงอก แต่เป็นการเจริญแพร่พันธุ์และงอกได้ในพืช สปอร์เหล่านี้พร้อมที่จะระบาดจากพืชในพื้นที่หนึ่งไปสู่อีกพื้นที่หนึ่ง โดยมีลม น้ำ หรือมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญในการพัดและ/หรือพาไป เมื่อสปอร์เหล่านี้ไปสู่พืชพรรณชนิดต่าง ๆ ที่เหมาะสม สปอร์ก็จะเจริญและงอกเข้าไปในพืชโดยการแทงผ่านผิวพืชเข้าไปในพืชได้โดยตรง หรืองอกแล้วแทงผ่านเข้าไปตามแผลที่เกิดขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของพืช หรือเข้าตามช่องเปิดธรรมชาติ เช่น ปากใบ เมื่อเข้าไปแล้วเชื้อราพวกนี้ก็จะมีการสร้างสารพิษ เอนไซม์ หรือสารกระตุ้นต่าง ๆ ทำลายพืชให้ได้รับความเสียหาย เกิดการเปลี่ยนแปลงผิดปกติไป ปัจจุบันมีการผลิตสารเคมีเรียกว่าสารควบคุมเชื้อราโรคพืช หรือ Fungicides ใช้ฉีดพ่นทั้งในลักษณะป้องกันและรักษาก่อนและหลังจากที่พืชเป็นโรค
ในกลุ่มของจุลินทรีย์สาเหตุโรคพืช เชื้อราจัดเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำความเสียหายให้แก่พืชผลมากที่สุด มีเชื้อรามากกว่า 8,000 ชนิดที่เป็นสาเหตุโรคพืช และมีพืชชั้นสูงและหรือพืชผลทางการเกษตรเกิดโรค เนื่องจากเชื้อราไม่น้อยกว่า 100,000 โรค เชื้อราสามารถแพร่ระบาดไปตามที่ต่าง ๆ ได้โดยติดไปกับซากพืชเป็นโรค เมล็ดและ/หรือท่อนพันธุ์ ดิน ปุ๋ยคอก หรือวัสดุปลูกต่าง ๆ รวมทั้งแพร่ไปกับน้ำและปลิวไปกับลมได้ดี 
สำหรับโรคของพืชป่าไม้ในประเทศไทย พบว่ามีเชื้อราที่เป็น Microfungi จำนวนมากที่สามารถเข้าทำลายพืชป่าไม้ได้ตั้งแต่ระยะเมล็ด กล้าไม้ และส่วนต่าง ๆ ของลำต้น ได้แก่ ใบ กิ่งก้าน ลำต้น และฝัก โดยขณะนี้พบเชื้อราประมาณ 92 ชนิด จากเมล็ดไม้ 47 ชนิด ; 72 ชนิด จากกล้าไม้ 40 ชนิด และประมาณ 29 ชนิด จากไม้ใหญ่ 9 ชนิด โดยเชื้อราสาเหตุโรคพืชป่าไม้ที่หลากหลายเหล่านี้สามารถจัดกลุ่มตามลักษณะอาการต่าง ๆ ของโรคได้ เช่น โรคเน่าคอดิน (damping off), ราสนิม (rust), ราแป้ง (powdery mildew), จุดนูนดำ (tar spot), ใบไหม้ (leaf blight), ยอดตาย (dieback), แผลแตกตามลำต้น (canker) ฯลฯ เป็นต้น 
          เชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคพืช  แบคทีเรียเป็นจุลินทรีย์เซลล์เดียว มีผนังแข็งห่อหุ้มเซลล์ (cell wall) รูปร่างจึงคงที่ แต่ละเซลล์มีขนาดเล็กมากต้องใช้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูงจะเห็นเซลล์ชัดเจน แบคทีเรียบางชนิดสามารถเคลื่อนที่ได้เองด้วยหาง บางชนิดสามารถสร้างสปอร์ที่คงทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ แบคทีเรียมีการทวีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วยการแบ่งเซลล์ ส่วนใหญ่แบคทีเรียสาเหตุโรคพืชมีรุปร่างเป็นทอนสั้นและไม่สร้างสปอร์ แต่จะมีชั้นเมือกหรือแคบซูลห่อหุ้มผนังด้านนอกเซลล์อีกชั้นหนึ่ง จึงช่วยให้มีอายุนานและทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ดีขึ้น แบคทีเรียสามารถผลิตสารพิษและเอนไซม์ทำลายพืชให้ได้รับความเสียหายได้ แบคทีเรียบางชนิดสร้างสารเร่งการเจริญเติบโตไปทำให้เซลล์พืชเจริญมากผิดปกติ เกิดอาการบวมพอง เป็นปุ่มปม แบคทีเรียเข้าทำลายพืชได้ทางแผลที่เกิดขึ้นตามผิวพืชและทางช่องเปิดธรรมชาติ เช่น ปากใบ แบคทีเรียมักจะถูกยับยั้งการเจริญได้ง่ายโดยการปฏิชีวนะแทบทุกชนิด รวมทั้งสารประกอบที่มีธาตุทองแดงเป็นส่วนผสม แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุโรคพืชมีประมาณ 200 ชนิด การแพร่กระจายของแบคทีเรียไปสู่ที่ต่าง ๆ จะเป็นไปในลักษณะเช่นเดียวกับการแพร่ระบาดของเชื้อรา
         ไส้เดือนฝอยศัตรูพืช  ไส้เดือนฝอยเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มีขนาดเล็กมากยากที่จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีลักษณรูปร่างยาวเรียวเป็นส่วนใหญ่ บางชนิดตัวเมียเมื่อโตเต็มวัย มีลักษณะบวมพอง อ้วนกลม ไส้เดือนฝอยดูดแย่งอาหารจากพืชโดยใช้หลอดดูดอาหารในช่องปากที่มีลักษณะเป็นเข็มกลวงปลายแหลมเรียกว่า spear หรือ stylet บางชนิดเกาะติดอยู่ภายนอกส่งเฉพาะ stylet เข้าไปดูดอาหารในเซลล์พืช บางชนิดปักเฉพาะส่วนปากและหัวเข้าไป บางชนิดเข้าไปอยู่ในพืชทั้งตัว ทำให้พืชเป็นโรคโดยทำลายเซลล์พืชหรือไปเปลี่ยนแปลงขบวนการเจริญเติบโตของพืชให้ผิดปกติไป 
          เชื้อไฟโตพลาสมาสาเหตุโรคพืช  เริ่มมีรายงานว่าเป็นเชื้อสาเหตุโรคได้ เมื่อ พ.ศ. 2503 มีเซลล์เดียวและมีเฉพาะเนื้อเยื่อห่อหุ้มเซลล์ แต่ไม่มีผนังล้อมรอบ ทำให้รูปร่างของเซลล์ไม่แน่นอน จะพบอยู่ในเซลล์พืชเท่านั้น โดยเฉพาะที่ท่อลำเลียงอาหารทำให้พืชแสดงอาการเหลืองผิดปกติ เชื้อแพร่ระบาดได้ดี โดยมีแมลงพวกปากดูดเป็นพาหะพาไป โดยเฉพาะเพลี้ยจักจั่น ซึ่งเชื้อนี้จะเจริญและทวีจำนวนในตัวแมลงได้ ลักษณะเฉพาะของเชื้ออีกประการหนึ่งคือมีสารปฏิชีวนะเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่สามารถยับยั้งการเจริญหรือฆ่าเชื้อบนพืชได้คือสารเตตราไซคลีน (tetracycline) ปัจจุบันมีรายงานพบเชื้อไฟโดพลาสมามากกว่า 80 ชนิดเป็นสาเหตุโรคของพืชกว่า 300 ตระกูล
          เชื้อไวรัสและไวรอยด์สาเหตุโรคพืช  ไวรัสและไวรอยด์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กที่สุด อนุภาคของไวรัสมีเฉพาะกรดนิวคลีอิค (nucleic acid) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาร์เอ็นเอ และโปรตีนเป็นส่วนประกอบเท่านั้น ไวรอยด์ไม่มีโปรตีนมีแต่อาร์เอ็นเอ (RNA) จะมองเห็นได้เมื่อใช้กล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษ (Electron Microscopes) กำลังขยาย 2,000-3,000 เท่า มีรายงานว่าพบไวรัสไม่น้อยกว่า 500 ชนิด ที่สามารถเข้าทำลายและเป็นสาเหตุโรคพืชได้ 
  





คลิกดูเพิ่ม


โดย:
งาน: งานห้องสมุด
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: http://www.forest.go.th/Ferd/ferdTHAI/pathology.html

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 1

อ่าน 0 ครั้ง