[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

วัดอรุณราชวรมหาวิหาร

วัดอรุณราชวรมหาวิหาร 
วัดอรุณราชวราราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นเกียรติชั้นสูงสุดพระอารามหนึ่ง การลำดับเกียรติพระอารามหลวงนั้น เริ่มมีในรัชกาลที่ 6 โปรดให้จัดระเบียบพระอารามหลวงในกรุงเทพมหานครและหัวเมือง 
วัดอรุณราชวราราม นามเต็ม วัดอรุณราชวรมหาวิหาร เดิมเป็นวัดโบราณสร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีหลักฐานปรากฏในปัจจุบันคือ โบสถ์ และวิหารเดิมของวัด เดิมชื่อวัดว่า “ บางมะกอก “ หรือ “ วัดมะกอก “ ตามชื่อตำบล 
ต่อมา ตอนต้นสมัยกรุงธนบุรี จึงมาเปลี่ยนนามว่า “ วัดแจ้ง “ โดยพระยาวชิรปราการ ( ตาก )เพราะสาเหตุที่เล่ากันมาทำนองว่า เมื่อ พระยาวชิรปราการ ( ตาก ) ได้ต่อสู่เอาชนะพม่าข้าศึกที่กรุงศรีอยุธยา และปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ เมื่อปี พ.ศ.2310 แล้วตระหนักว่ากรุงศรีอยุธยามีความเสียหายใหญ่หลวงด้วยฝีมือข้าศึก เหลือกำลังที่จะบรูณะให้คืนคงดีดังเดิมได้ จึงจงโปรดให้มาตั้งราชธานีใหม่ที่เมืองธนบุรี ในสมัยธนบุรี เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกตีได้กรุงเวียงจันทน์ พ.ศ.2322 ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตลงมาด้วย และได้ประดิษฐานพระแก้วมรกตไว้ในวัดแจ้งจนสิ้นสมัยกรุงธนบุรี ครั้งสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกปราบดาภิเภษและทรงส้างพระนครใหม่พร้อมทั้งวัดศรีรัตนศาสดารามเสร็จเรียบร้อยจึงอัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐาน ณ วัดศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ.2327 
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา และฟากตะวันออกของถนนอรุณอัมรินทร์ ระหว่างคลองนครบาลหรือ คลองวัดแจ้ง กับพระราชวัดเดิม ตำบลวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 
เขตติดต่อ 
ทิศเหนือ จดกำแพงวัดด้านเหนือ หลังโรงเรียนประถมทวีภิเศก 
ทิศใต้ จดกำแพงพระราชวังเดิม 
ทิศตะวันออก จดฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 
ทิศตะวันตก มีกำแพงวัดติดถนนอรุณอัมรินทร์ 
บริเวณวัดมีเนื้อที่ 27 ไร่ 2 งาน 63 วา ด้านเหนือติดกำแพงวัด หลังโรงเรียนประถมศึกษาเทวีธาภิเศก เป็นเนื้อที่ประมาน 3 งาน 77 วาเศษ กับ ที่ทางทิศตะวันตกของถนนอรุณอัมรินทร์มีเนื้อที่ 33 ไร่ 2 งาน 63 วา ทั้งหมดนี้ทางวัดให้เอกชนเช่า 
ปูชนียสถานและโบราณวัตถุ 
พระอุโบสถ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัด สร้างสมัยรัชกาลที่ 2 ลักษณะของพระอุโบสถ ยกพื้นสูง หลังคา 2 ชั้นมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลืองและเขียวใบไม้ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลงรักปิดทอง ประดับ กระจก หน้าบันทั้งสองด้านและหลังเป็นรูปเทวดายืนถือพระขรรค์อยู่ในปราสาท เป็นไม้แกะมีสังข์และคนโทน้ำวางอยู่บนพานข้างละพาน ด้านในพระอุโบสถมี ภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน 
พระประธารในพระอุโบสถมีพระนามว่า “ พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก ” หล่อใน 
รัชกาลที่ 2 กล่าวกันว่า “พระพักตร์เป็นฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ 2 ” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 ศอกคืบ ประดิษฐานเหนือแท่นไพที บนฐานชุกชี เบื้องบนพระพักตร์มีรูปอัครสาวก 2 องค์ ระหว่างกลางมีพัดยศพระประธานตั้งอยู่ ที่ผ้าทิพย์ตรงพัดยศบรรจุพระบรมอัฐของรัชกาลที่ 2 
ซุ้มประตูยอดมงกุฏ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ อยู่ตรงกึ่งกลางพระระเบียงด้านตะวันออก เป็นซุ้มจตุรมุข หลังคาลด ๓ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี มียอดเป็นทรงมงกุฏประดับด้วยกระเบื้องถ้วยสลับสี ช่อฟ้า ใบระกา หัวนาคและหางหงษ์ เป็นรูปปูนปั้นประดับกระเบื้องถ้วยเป็นลวดลายดอกไม้ใบไม้ เชิงกลอนคอสอง ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยเช่นเดียวกัน ซุ้มประตูนี้เคยซ่อมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้คงแบบเดิมไว้ทั้งหมด เพราะทรงมีพระราชดำริ ว่าซุ้มประตูนี้เองที่ธนบัตรไทยฉบับละ ๑๐๐ บาท รุ่นเก่า ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๘ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน ที่พิมพ์บริษัทโทมัส เดอราลจึงมีสภาพซุ้มประตูและยักษ์วัดอรุณราชวรารามพิมพ์เป็นสัญลักษณ์อยู่ ซุ้มประตูนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่อีก ครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ โดยคงรูปเดิมไว้ตลอดเช่นเดียวกัน 
หน้าซุ้มประตูนี้มีสัญลักษณ์สำคัญประจำวัดอีกอย่างหนึ่งคือ รูปปั้นยักษ์ ซึ่งถือว่าเป็นต้นตระกูลยักษ์เฝ้าประตู อุโบสถเพราะมีก่อนที่อื่นใด คู่เก่าปั้นไว้ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ผีมือหลวงเทพฯ (กัน) ช่างปั้นชั้นเยี่ยมในสมัยนั้นยักษ์คู่ปัจจุบัน เป็นฝีมือชั้นหลานของคู่เดิม สร้างหลังจากยักษ์คู่ที่สองที่ปั้นไว้แทนยักษ์คู่แรก ซึ่งถูกอสนีบาต เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ ยักษ์ตนที่อยู่ด้านเหนือกายสีขาว คือสหัสสเดชะ ด้านใต้กายสีเขียวคือ ทศกัณฐ์ ยักษ์ทั้งคู่ถือกระบองกางแขนขาอย่าง ยักษ์ในโขนละคร ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบด้วยสีต่าง ๆ ถัดยักษ์ออกมามีสิงห์โตจีนหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ด้านละ๓ ตัว รวม ๖ ตัว 
มณฑปพระพุทธบาทจำลอง อยู่ระหว่างเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ 4 องค์ กับพระวิหารใหญ่ ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ก่อด้วยอิฐปูน ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยสี่ต่างๆ มีฐานทักษิณ 2 ชั้น สร้าง สร้างในรัชกาลที่ 3 หลังคามณฑปเดิมเป็นยอดเกี้ยวแบบจีน ต่อมาชำรุด รัชกาลที่ 5 โปรดให้ซ่อมใหม่ปัจจุบันหลังคามณฑปเป็นของสร้างใหม่ ทำด้วยซีเมนต์ทำในสมัยพระธรรมเจดีย์ ( อุ่น ) เป็นเจ้าอาวาส พ.ศ. 2420 ในรัชกาลที่ 4 
พระเจดีย์ 4 องค์ อยู่ระหว่างพระระเบียงอุโบสถด้านใต้ กับ มณฑปพระพุทธบาทจำลองเรียงเป็นแถวจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก เป็นเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบมีขนาดเท่ากันก่อด้วยอิฐปูนประดับด้วยกระเบื้องถ้วยและกระสีต่างๆเป็นลวดลายดอกไม้และลายอื่นๆ งดงามมาก เจดีย์ทั้ง 4 องค์นี้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 3 ปฏิสังขรณ์ใหญ่ในรัชกาลที่ 5 
พระวิหารอยูระหว่างมณฑปพระพุทธบาทจำลองกับหมู่กุฏิคณะ 1 เป็นพระวิหารยกพื้นสูงเช่นกับพระอุโบสถ หลังคาลด 3 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีหน้าบันเป็นรูปเทวดาถือพระขรรค์ นั่งบนแท่นประดับด้วยลายกนก ลงรักปิดทองประดับกระจก มีมุขด้านหน้าและด้านหลัง ด้านหน้ามีประตู 3 ประตูด้านหลังมี 2 ประตู ผนังด้านนอกประดับด้วยกระเบื้องเคลือบลายก้านแย่งขบวนไทยมีหน้าต่าง 14 ช่อง ปัจจุบันพระวิหารหลังนี้ใช้เป็นศาลาการเปรียญของวัดด้วย 
หอระฆังมีอยู่ 2 หอ อยู่ด้านเหนือหลังพระวิหาร เขตพุทธวาส ทั้ง 2 หอ สูง 3 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบมีลายปูนปั้นประดับกระเบื้องด้วย มีหน้าบันเป็นลายดอกไม้ปักอยู่ในพาน หอด้านเหนือแขวนระฆังธรรมดา เสียงไพเราะดี อีกหอหนึ่งอยู่ด้านใต้ แขวนระฆังกังสดาลแผ่นหนาเป็นวงกลม หอระฆังทั้ง 2 หอนี้ ปรากฏหลักฐานว่าเป็นสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 2 
โบสถ์น้อย อยู่หน้าพระพุทธปรางค์ด้านเหนือซุ้มประตูพระเกี้ยวเป็นโบสถ์เดิมของวัด สร้างสมัยอยุธยาคู่กับพระพุทธปรางค์องค์เดิม สูง 8 วา รูปทรงเตี้ยไม่มีกำแพงแก้ว มีประตู 4 ประตู หลัง 2 ประตูหน้า 2 ประตู บานหน้าต่างด้านนอกเป็นลายรดน้ำรูปทหารและมีรูปดอกไม้ประดับ ด้านในเป็นภาพเขียนสีเทวดา แบบทวารบาลทุกบาน มีหน้าต่างข้างละ 6 ช่อง เป็น 12 ช่อง ด้านนอกเป็นลายรดน้ำรูปดอกไม้ ด้านในเป็นภาพสีรูปฉัตรเบญจา และดอกไม้ร่วงเหมือนกันทุกบาน ภายในโบสถ์มีฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปถึง 29 องค์ หน้าฐานชุกชีทำเป็นลับแล ก่ออิฐ ถือ ปูน มีพระแท่นของพระเจ้ากรุงธนบุรีประทับตามพระราชพงศาวดารกล่าวไว้ว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อจวนจะสิ้นรัชกาล ได้ทรงผนวชและได้ทรงมาประทับ ณ โบสถ์นี้ โบสถ์นี้เป็นทางเข้าพระปรางค์ได้ด้วย 
พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามตั้งอยู่หน้าวัดทางทิศใต้หลังโบสถ์น้อยและวิหารน้อย เป็นปูชนียสถานที่สำคัญของวัด และของประเทศ เป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศให้มาชมกันทุกวันมิได้ขาดแต่เดิมเป็นพระธาตุสูง ๘ วา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงปฏิสังขรณ์วัด ทรงมีพระราชศรัทธาจะเสริมสร้างให้สูงใหญ่เป็นศรีสง่าแก่นคร ทรงกระทำได้เพียงโปรดให้กะที่ขุดรากเตรียมเท่านั้น พระองค์ก็ทรงเสด็จสวรรคตเสียก่อนต่อมาถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ปฎิสังขรณ์วัดนี้เป็นการใหญ่ เริ่มแต่ทรงปฏิสังขรณ์และสร้างกุฏิสงฆ์เป็นตึกใหม่ทั้งหมด ทรงมีพระราชดำริเพื่อสนองพระราชประสงค์ของพระบรมชนกนาถ จึงโปรดให้เสริมสร้างพระพุทธปรางค์ ให้สูงถึง ๑ เส้น ๑๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ ๑ นิ้ว (สูง ๖๗ เมตร) เริ่มสร้างปี พ.ศ.๒๓๘๕ เสร็จปี พ.ศ. ๒๓๙๔ ใช้เวลาสร้างถึง ๙ ปีรัชกาลที่ ๓ โปรดให้หล่อยอดนภศูล พระพุทธปรางค์ปี พ.ศ. ๒๓๘๙ 









ดูข้อมูลเพิ่ม


โดย:
งาน: งานห้องสมุด
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: การท่องเทียวแห่งประเทศไทย

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง