[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ตำหนักหอ

ตำหนักหอ เป็นตำหนักแรกในวังบางขุนพรหม คือสร้างขึ้นพร้อมกับการก่อสร้าง วัง บางขุนพรหม ซึ่งเป็นวังที่ประทับของสมเด็จ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระสถิตย์นิมานการ (ม.ร.ว.ชิต อิศรศักดิ์ ภายหลัง เป็นพระยาประดิษฐ์อมรพิมาน) สร้างตำหนักเล็กเพิ่มขึ้นภายในบริเวณ วัง อีก 14 หลัง และจะต้องให้เสร็จก่อนตำหนักใหญ่ เพราะสมเด็จ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ต้องทรงใช้เป็นตำหนักหอ ในปี 2446 
พระสถิตย์นิมานการ เลียนแปลนคล้ายๆ กับพระที่นั่งวิมานเมฆในพระราชวังดุสิต เป็นเรือน 3 ชั้น ชั้นล่างก่ออิฐ ชั้น 2 และชั้น 3 เป็นไม้สัก โดยเฉพาะชั้น 3 ไม่ได้สร้างเต็มเนื้อที่ สร้างเฉพาะเป็นห้องส่วนพระองค์เพียง 3 ห้อง คือห้องซ้ายเป็นห้องประทับทรงอักษร หรือห้องพักผ่อนตามสบาย ห้องกลางเป็นห้องเสวย ห้องขวาเป็นห้องเตรียมเครื่องเสวย ส่วนห้องมุขที่ยื่นออกมาตรงกลางตำหนักเป็นห้องรับแขก และชั้นล่างเป็นห้องเก็บของ (หลังคามุงกระเบื้องสามเลน และใช้เพดานไม้สัก) 
สมเด็จ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าประสงค์สม ไชยยันต์ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2446 และทรงใช้ตำหนักหอเป็นเรือนหอ ในปี 2528 ธนาคารแห่งประเทศไทย น้อมเกล้าฯ ถวายอาคารตำหนักหอแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยธนาคารฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนและนำมาปลูกสร้างใหม่ ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้มาปลูกสร้างในวังศุโขทัยและแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2530 
ปี 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายวัชรกิติ วัชโรทัย ผู้อำนวยการพระราชวังดุสิต เป็นผู้ดำเนินการรื้อย้ายตำหนักหอจากวังศุโขทัยมาปลูกสร้าง ณ พระราชวังดุสิต โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 
ปัจจุบัน ภายในตำหนักหอได้ใช้เป็นอาคารจัดแสดงของใช้ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งอัญเชิญมาจากวัง ศุโขทัยและจัดแสดงศิลปวัตถุเครื่องปั้นดินเผาสมัยสุโขทัยและอยุธยา ซึ่งจมอยู่ใต้ทะเลแถบตะวันออกและทางใต้ของประเทศไทย 
เครื่องถ้วยไทยที่จัดแสดงที่ตำหนักหอส่วนใหญ่ได้จากแหล่งเรือจม แหล่งผลิตสำคัญอาจแบ่งได้ดังนี้ 
เครื่องถ้วยสุโขทัย (สังคโลก) 
สังคโลก เป็นเครื่องถ้วยซึ่งผลิตจากแหล่งเตาในจังหวัดสุโขทัย ในสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 22 แหล่งเตาที่สำคัญ แบ่งออกเป็น 2 แหล่ง 
แหล่งเตาที่อำเภอเมืองสุโขทัย ผลิตเครื่องถ้วยเคลือบขาวและประเภทเขียนลายสีดำใต้เคลือบ ลักษณะพิเศษของเครื่องถ้วยที่ผลิตจากเตาเมืองสุโขทัยคือ มักมีการทารองพื้นผิวภาชนะด้วยน้ำดินข้น สีขาวค่อนข้างหนาก่อนนำไปเขียนลายหรือเคลือบ ลวดลายส่วนใหญ่เป็นลายปลา 
แหล่งเตาที่อำเภอศรีสัชนาลัย บริเวณนี้พบเตาเผาจำนวนมาก เครื่องถ้วยจากแหล่งนี้มีมากมายหลายประเภท เช่น เคลือบเขียวหรือเซลาดอน ประเภทเขียนลายสีดำใต้เคลือบ ประเภทเคลือบขาว เคลือบสีน้ำตาล เคลือบสองสี รวมทั้งภาชนะเนื้อแกร่งไม่เคลือบ 
เครื่องถ้วยเตาบ้านบางปูน 
แหล่งผลิตตั้งอยู่ที่บ้านบางปูน ตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ภาชนะที่ผลิตส่วนใหญ่สำหรับใช้ในท้องถิ่น ผลิตเครื่องถ้วยแบบไม่เคลือบทั้งเนื้อดินธรรมดาและเนื้อแกร่ง แบบ เนื้อดินธรรมดามี 3 แบบ คือ ชาม อ่าง และหม้อก้นกลม ตกแต่งด้วยลายกดประทับลายขูดขีด และลายกดประทับรูปสัตว์ เช่น ช้าง กระต่าย ลิง 
ส่วนภาชนะเนื้อแกร่งได้แก่พวกครก อ่าง ไห มักตกแต่งด้วยลายขูดขีดหรือกดประทับเป็นชุดๆ และมีแนวไข่ปลาคั่นบริเวณคอและไหล่ เครื่องปั้นดินเผาบ้านบางปูนคงพัฒนาขึ้นราวๆ พุทธศตวรรษที่ 18 – 19 
นอกจากของใช้ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และเครื่องถ้วยแล้ว ที่ตำหนักหลังนี้ยังจัดแสดงเรือกอและ จำลอง จากภาคใต้ เรือกอและ เป็นเรือประมงที่ใช้ในภาคใต้ตอนล่าง รวมถึงรัฐกลันตันและตรังกานูของประเทศมาเลเซีย ลักษณะเป็นเรือยาวต่อด้วยไม้ต้นเดียวส่วนหัวและท้ายสูง นิยมทาสีและเขียนลวดลายฉูดฉาดเป็นลายไทยและลายอินโดนีเซีย เรือกอและมี 2 แบบ คือ แบบ หัวสั้นและหัวยาว ลักษณะเด่นอยู่ที่ ศิลปะการตกแต่งทำให้เรือกอและมีความสง่างามเกิดจากฝีมือ จิตรกรพื้นบ้านที่นิยมใช้สีสดใสเขียนลวดลาย ปัจจุบัน เรือกอและยังใช้ในการประมงของชาวไทยมุสลิมภาคใต้อยู่ 





ดูข้อมูลเพิ่ม


โดย:
งาน: งานห้องสมุด
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: การท่องเทียวแห่งประเทศไทย

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 1

อ่าน 0 ครั้ง