[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

การเกิดฟันกร่อนในนักกีฬาว่ายน้ำ

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีการรายงานการเกิดฟันกร่อนในนักกีฬาว่ายน้ำบ่อยครั้งขึ้น ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ล่าสุดจังหวัดขอนแก่นรายงานว่า พบนักกีฬาว่ายน้ำ จำนวน 18 คน (ทั้งทีม) เป็นฟันกร่อนอย่างรุนแรง

ฟันกร่อน (Dental Erosion) เป็นการสูญเสียผิวฟันและเนื้อฟันอันเนื่องมาจากปฎิกริยาทางเคมี เมื่อฟันต้องสัมผัสกับสารเคมีที่มีสภาพเป็นกรด โดยเฉพาะเมื่อมีค่าความเป็นกรดด่าง (pH) ตั้งแต่ 5.0 หรือต่ำกว่านี้ ภาวะความเป็นกรดอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยในร่างกายเช่นผู้ป่วยที่อาเจียนบ่อยๆทำให้มีกรดอยู่ในช่องปาก หรือมาจากปัจจัยภายนอก เช่นการรับประทานอาหารที่เป็นกรด ดื่มน้ำอัดลมหรือน้ำผลไม้บางประเภทเป็นประจำ จากการประกอบอาชีพที่ต้องสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นกรด เช่นคนงานในโรงงานชุบโลหะ โรงงานเครื่องเคลือบ โรงงานแบตเตอรี่ หรือโรงงานทำไวน์ รวมทั้งจากการว่ายน้ำในสระที่มีค่าความเป็นกรดสูง

อาการทางคลินิก ที่สามารถตรวจพบได้เมื่อเกิดฟันกร่อนในระยะแรก คือ ผิวเคลือบฟันด้านแต่เรียบ ความมันวาวลดลง ด้านบดเคี้ยวมีบริเวณหลุมและร่องฟันเรียบมากขึ้น ขอบเขตชัดเจน เมื่อฟันกร่อนมากขึ้นจนถึงชั้นเนื้อฟันจะรู้สึกเสียวฟัน ฟันที่มีวัสดุอุดจะปรากฏคล้ายขอบวัสดุอุดยกสูงขึ้นเนื่องจากผิวฟันรอบๆถูกทำลายไป

การเกิดฟันกร่อนในผู้ว่ายน้ำมีรายงานทั้งในต่างประเทศและประเทศไทย ในต่างประเทศพบการเกิดฟันกร่อนในนักกีฬาที่ว่ายในสระที่ใช้คลอรีนชนิดก๊าส สำหรับประเทศไทยมีรายงานการเกิดฟันกร่อนในนักกีฬาว่ายน้ำของสระว่ายน้ำแห่งหนึ่งเมื่อปี 2537 ต่อมาในปี 2541 มีรายงานการสำรวจหาฟันกร่อนในนักกีฬาว่ายน้ำจากสระ 8 แห่งในกรุงเทพมหานคร พบว่านักกีฬาว่ายน้ำมีการเกิดฟันกร่อนแตกต่างจากกลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ) ทั้งสองการศึกษาไม่ได้ระบุเรื่องสารเคมีที่ใช้ในสระว่ายน้ำ

ในปี 2541 มีการศึกษาถึงสารเคมีที่ใช้ในสระว่ายน้ำที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดฟันกร่อน รวมทั้งการวัดปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องโดยสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรดสูง ประวัติการว่ายน้ำ ระยะเวลาการว่ายน้ำ การเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ สระว่ายน้ำที่ว่ายเป็นประจำ อาการเสียวฟันภายหลังการว่ายน้ำนอกจากนี้ได้สัมภาษณ์ผู้ดูแลสระว่ายน้ำเกี่ยวกับสารเคมีที่ใช้ วิธีการเติมสารเคมี ความถี่ในการเติมสารเคมี และปริมาณสารเคมีที่เติมแต่ละครั้ง พร้อมทั้งตรวจที่บรรจุสารเคมีและวัดค่าความเป็นกรดด่างของน้ำในสระโดยใช้เครื่องวัดค่าพีเอ็ชสนาม ตัวอย่างที่ได้รับการตรวจ เป็นผู้ว่ายน้ำจากสระว่ายน้ำ 6 แห่งในกรุงเทพมหานครจำนวนทั้งสิ้น 330 คน พบผู้มีฟันกร่อน 70 คน ความรุนแรงของการเกิดฟันกร่อน พบว่า กลุ่มศึกษามีฟันกร่อนตั้งแต่ 1-27 ด้าน ส่วนใหญ่พบ 1-5 ด้าน และพบมากที่ด้านหน้าของฟันหน้าบน

การศึกษาครั้งนี้ พบว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดฟันกร่อนในผู้ว่ายน้ำ ได้แก่ การว่ายในสระที่ใช้สารประกอบคลอรีนประเภทไทรคลอโรไอโซไซยานูริกแอซิด และการเป็นนักกีฬาว่ายน้ำซึ่งว่ายน้ำเฉลี่ย 11.33 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ท้งนี้อาจเนื่องจาก สารประกอบคลอรีนประเภทไทรคลอโรไอโซไซยานูริกแอซิด เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้น้ำมีภาวะความเป็นกรด เนื่องจากเมื่อละลายน้ำจะได้กรดไฮโปคลอรัส และกรดไซยานูริก กรดไซยานูริกเป็นสารตกค้างที่ทำให้ค่าความเป็นกรดของน้ำเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในทางปฏิบัติผู้ดูแลสระว่ายน้ำจะต้องวัดค่าความเป็นกรดด่างทุกวัน และเมื่อน้ำมีภาวะความเป็นกรดมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด จะต้องเติมโซเดียมไบคาบอเนต (NaHCO3) เพื่อปรับสมดุลของน้ำ แต่หากปล่อยให้น้ำมีภาวะความเป็นกรดมาก และผู้ว่ายน้ำสัมผัสกับน้ำดังกล่าวเป็นเวลานาน เช่นนักกีฬาว่ายน้ำที่มีพฤติกรรมการว่ายทุกวัน วันละ 2 ชั่วโมง จะมีโอกาสสูงมากในการเกิดฟันกร่อน การศึกษาของ Centerwall และคณะ ระบุว่าในสระที่น้ำมีค่ากรดด่างเท่ากับ 2.7 ผู้ที่ว่ายน้ำวันละ 2 ชั่วโมง เป็นเวลาเพียง 4 สัปดาห์ ก็สามารถตรวจพบฟันกร่อนได้ การศึกษาครั้งนี้ผู้ปกครองของนักกีฬาได้ให้ข้อมูลว่าเกิดอาการเสียวฟันหลังการว่ายน้ำประมาณ 3 เดือน

การศึกษาครั้งนี้ ไม่พบความสัมพันธ์ของการเกิดฟันกร่อนในผู้ว่ายน้ำที่ว่ายในสระที่ใช้แคลเซียมไฮโปคลอไรต์ (Ca(ClO)2) หรือโซเดียมไฮโปคลอไรต์ (NaOCl) ทั้งนี้เพราะสารประกอบคลอรีนทั้ง 2 ชนิด เมื่อละลายน้ำจะทำให้น้ำมีค่าความเป็นด่างมากขึ้น จากปฏิกริยาเคมีขณะละลาย และจากสารประกอบของคลอรีน ดังนั้นแม้จะสัมผัสน้ำเป็นเวลานานก็ไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อฟัน แต่ปัจจุบันการใช้สารประกอบคลอรีนเพื่อการฆ่า เชื้อโรคในสระว่ายน้ำในกรุงเทพมหานคร ใช้ในรูปของไทรคลอโรไอโซไซยานูริกแอซิดเป็นส่วนใหญ่ เพราะหาซื้อง่าย ราคาถูก และทำให้น้ำใสเพราะช่วยกำจัดสาหร่ายตะไคร่น้ำได้ด้วย

เมื่อพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดฟันกร่อนทีละปัจจัย ได้แก่ปัจจัยการเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ สารประกอบคลอรีน การดื่มน้ำอัดลมหรือการดื่มน้ำผลไม้ พบว่านักกีฬาว่ายน้ำมีโอกาสเกิดฟันกร่อนมากกว่าผู้ว่ายน้ำทั่วไป 4.68 เท่า (95%CI = 2.35,9.31) ผู้ว่ายน้ำในสระที่ใช้สารประกอบคลอรีนประเภทไทรคลอโรไอโซไซยานูริกแอซิด (ทางการค้ามักเรียกว่าคลอรีน 90%)มีโอกาสเกิดฟันกร่อนมากกว่าผู้ว่ายน้ำในสระที่ใช้คลอรีนตัวอื่นเช่นแคลเซียมไฮโปคลอไรต์และโซเดียมไฮโปคลอไรต์ 2.78 เท่า (95%CI = 1.57,4.93)

เมื่อวิเคราะห์โดยพิจารณาสองปัจจัยร่วมกันคือชนิดของสารประกอบคลอรีนและการเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ พบว่า นักกีฬาที่ว่ายน้ำในสระที่ใช้ไทรคลอโรไอโซไซยานูริกแอซิด มีความเสี่ยงในการเกิดฟันกร่อนสูงสุด เป็น 13.1 เท่าของผู้ไม่เป็นนักกีฬาและไม่ว่ายในสระที่ใช้ไทรคลอโรไอโซไซยานูริกแอซิด ( 95 % CI = 5.0, 35.2)

การสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อวัดค่าความเป็นกรดด่าง พบว่ามีค่าอยู่ระหว่าง 3.6-8.0 การสัมภาษณ์ผู้ดูแลสระว่ายน้ำเกี่ยวกับความถี่ในการเติมสารประกอบคลอรีน ปริมาณสารที่ใช้ และวิธีการเติม พบว่ามีการเติมสารทุกวันในเวลากลางคืนหลังจากสระปิดทำการ มีสระว่ายน้ำหนึ่งแห่งที่เติมสารคลอรีนเพิ่มบางวันหากมีผู้ว่ายน้ำมาก ปริมาณสารที่เติมแต่ละสระแตกต่างกันตามปริมาตรของสระว่ายน้ำ โดยคำนวณตามข้อแนะนำของบริษัทผู้จำหน่ายสารเคมี มีการตรวจสอบค่าความเป็นกรดด่างของน้ำ แต่ไม่สม่ำเสมอทุกวัน

ในต่างประเทศ Centerwall และคณะ รายงานการเกิดฟันกร่อนของผู้ว่ายน้ำในสระว่ายน้ำที่ใช้คลอรีนแก๊ส พบว่าผู้ว่ายน้ำตั้งแต่ 5 วันต่อสัปดาห์ขึ้นไป มีความเสี่ยงเป็น 3.8 เท่าของผู้ว่ายน้ำน้อยกว่า 5 วันต่อสัปดาห์ และผู้เป็นนักกีฬาว่ายน้ำมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 7.2 เท่า สอดคล้องกับการศึกษาของ Filler และคณะ สำหรับประเทศไทย วรพันธุ์ ลิ้มสินธโรภาสและคณะ เคยรายงานผู้ป่วยฟันกร่อน พบว่านักกีฬาว่ายน้ำที่สระแห่งหนึ่ง มีฟันกร่อนทุกคน บุณนิตย์ ทวีบูรณ์และคณะ ศึกษาความชุกของการเกิดฟันกร่อนในนักกีฬาว่ายน้ำจากสระ 8 แห่งในกรุงเทพมหานคร พบว่านักกีฬาว่ายน้ำมีความชุกของการเกิดฟันกร่อนถึงร้อยละ 90.19 การศึกษาทั้งสองมิได้ระบุสารเคมีที่ใช้ในสระว่ายน้ำ Gabai และคณะ เคยทดลองแช่ฟันมนุษย์ในน้ำจากสระว่ายน้ำที่มีค่าความเป็นกรดด่างตั้งแต่ 3.6-7.3 เป็นเวลา 60 นาที และ 120 นาที พบว่ามีการสลายตัวของแคลเซียมจากผิวฟัน เมื่อตรวจด้วยเครื่องสแกนนิ่ง อีเลคตรอน ไมโครสโคป พบการกร่อนของผิวเคลือบฟันลักษณะเป็นรูปร่างรังผึ้ง (Honeycomb-like etch pattern)

ฟันกร่อนเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นอย่างถาวร การป้องกันการเกิดฟันกร่อนในผู้ว่ายน้ำที่ดีที่สุด ได้แก่ การควบคุมคุณภาพน้ำให้มีค่าความเป็นกรดด่างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งตามข้อบังคับกรุงเทพมหานครว่าด้วยหลักเกณฑ์การประกอบการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพ ประเภทการจัดตั้งสระว่ายน้ำ พ.ศ. 2530 กำหนดให้ค่ากรดด่างอยู่ในช่วง 7.2 - 8.4 และต้องตรวจวัดทุกวัน การควบคุมคุณภาพน้ำในสระว่ายน้ำให้ได้มาตรฐาน เป็นบทบาทที่สำคัญของผู้ดูแลสระว่ายน้ำ อย่างไรก็ตาม การให้ความรู้แก่ผู้ดูแลสระ นักกีฬา ผู้ปกครอง และผู้ว่ายน้ำทั่วไป ให้เข้าใจถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นหากน้ำมีภาวะความเป็นกรดมากกว่ามาตรฐานเป็นอีกมาตราการหนึ่งที่จำเป็น การใช้มาตรการการป้องกันเฉพาะที่อาจเป็นเรื่องจำเป็นในบางกรณี เช่นการใช้ฟันยางสำหรับนักกีฬาว่ายน้ำที่ฝึกซ้อมในสระที่ใช้ไทรคลอโรไอโซไซยานูริกแอซิด หรือการเคลือบฟันด้วยสารบางอย่าง ซึ่งจะต้องมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้และประสิทธิภาพของเครื่องมือหรือวัสดุต่อไป

ทันตแพทย์สามารถช่วยการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาการเกิดฟันกร่อนในนักกีฬาว่ายน้ำได้ โดยสำรวจดูว่าจังหวัดของท่านมีสระว่ายน้ำหรือไม่ ใช้สารเคมีอะไรในการฆ่าเชื้อ มีการวัดค่าความเป็นกรดด่างสม่ำเสมอทุกวันหรือไม่ (ค่ามาตราฐาน ควรอยู่ประมาณ 7.2 -8.4) หากเป็นสระที่ใช้ไตรคลอโรไอโซไซยานูริกแอซิดและมีนักกีฬาว่ายน้ำฝึกซ้อม ควรให้คำแนะนำแก่ผู้ดูแลสระและมีการตรวจฟันเพื่อเฝ้าระวังปัญหา





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานสระว่ายน้ำ
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: www.siamswim.com

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง