[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ไขปัญหาในครอบครัวด้วยกุญแจหัวใจ

ไขปัญหาในครอบครัวด้วยกุญแจหัวใจ

                    การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว  การพูดเป็นกุญแจดอกเล็ก ๆ  ที่สำคัญ  ที่จะทำให้ครอบครัวมีความเข้าใจ 
สนินสนมผูกพัน    รักใครซึ่งกันและกันได้
                      แล้วเคยไหม ? บางครั้งแค่เอ่ยคำพูดง่าย ๆ  กับใครสักคน  เราก็พูดไม่ออก  หรือไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหนดี  ผู้เขียนคิดว่าผู้อ่านหลายท่านอาจเคยเผชิญกับสถานการณ์อย่างนี้  โดยเฉพาะการเริ่มต้นพูดจากับคนที่เรารัก  อย่างเช่น  บุตรหลานที่อยู่ในวัยซุกซนและชอบเอาแต่ใจเป็นที่หนึ่ง  บอกนิดบอกหน่อยก็มีท่าทางกระฟัดกระเฟียด  กระทืบเท้าแสดงกิริยาด้วยความไม่พอใจ  จนกลายเป็นเรื่องบานปลายใหญ่โต  แล้วจะมีวิธีการอย่างไร ? จัดการกับปัญหาอย่างนี้.......
                      วิธีการที่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการสื่อสารให้ความเห็นว่า  น่าจะใช้เป็น  กุญแจ  ที่จะช่วยทำให้เด็ก  เปิดใจ  และยอมเล่าความรู้สึกนึกคิดที่เขาเก็บอยู่ภายในกับผู้ใหญ่ได้นี้  เป็นวิธีการง่าย ๆ  ที่จะช่วยลูก ๆ  หันมาฟัง  เวลาที่พ่อแม่พูด  ซึ่งคุณพ่อแม่อาจค่อย ๆ  เรียนรู้ทำความเข้าใจ  โดยเริ่มต้นง่าย ๆ  ดังนี้

ฝึกการเจรจาอย่างสร้างสรรค์กันเถอะ
                      พูดน้อย........ฟังมาก      โดยเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ฟังที่ดี  พ่อแม่อย่าเอาแต่พูดฝ่ายเดียว  ควรใช้  การพูดหรือเตือนทางอ้อม  โดยสอดแทรกเรื่องต่าง ๆ  ไปกับการพูดคุยในชีวิตประจำวันว่าเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นแล้วมีผลอย่างไร  และควรรับฟังลูกก่อนด้วยท่าทีสนใจไม่รีบติงหรือชิงสั่งสอน
                        ให้เกียรติในความคิด      ไม่ควรทำให้ลูกรู้สึกว่าถูกยัดเยียดให้คิดอย่างพ่อแม่คิด  ให้เวลาเข้าได้พิจารณา  และแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ  โดยไม่ขัดจังหวะหรือขัดคอลูก  ขณะเดียวกันเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้แสดงความคิดเห็น  และตัดสินใจในฐานะสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว  เช่น  แสดงความเห็นในคำสั่งบางเรื่องของพ่อแม่  หรือกฎระเบียบประจำบ้านบางอย่าง  เป็นต้น
                        แสดงออกให้ลูกรู้ว่าคุณกำลังฟังเขา        มองหน้า  สบตากับลูกเวลาที่ลูกพูด  นั่งให้อยู่ในระดับเดียวกับเขาโดยอาจนั่งข้าง ๆ  ก็ได้
                          คุยให้ถูกเวลา  หาจังหวะดี  ๆ  ที่จะคุยกับลูก        โดยปกติแล้วเวลานอน  เหมาะกับเด็กเล็ก  และเด็กวัยเรียน  เรื่องที่คุยควรเป็นเรื่องสบาย  ๆ  อาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในวันที่ผ่านมาหรือเรื่องที่เขาไม่สบายใจ  หาก  เป็นช่วงเวลารับประทานอาหาร  พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงการพร่ำสอน  หรือบ่นว่า  จึงควรคุยเรื่องเบา ๆ  และเวลาทำงานบ้าน  พ่อแม่ควรทำตัวอย่างให้ลูกได้เห็นและแนะนำวิธีการเพื่อให้ลูกทำเป็น  หลีกเลี่ยงการดุด่า  ทั้งนี้  การพูดคุยกันอย่างเต็มที่  โดยไม่มีอะไรมาดึงความสนใจ  น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุด
                          ใส่ใจกับสีหน้า      ท่าทางที่ลูกแสดงออก  เรียนรู้ว่าลูกกำลังรู้สึกอย่างไรจากภาษากาย  ท่าทางที่เขาแสดงออก  สังเกตว่าลูกยิ้มหรือหน้านิ่ว  ดูผ่อนคลายหรือตึงเครียด
                          เข้าใจให้กระจ่างชัด      พยายามทำความเข้าใจคำพูดของลูก  คุณอาจทวนถามซ้ำเพื่อเพิ่มความเข้าใจหรือเพื่อช่วยยืนยันว่าคุณเข้าใจคำพูดของเขาได้ถูกต้องแล้ว
                          เลี่ยงการเทศนา      อย่าด่วนแสดงความเห็นหรือถามคำถามที่เป็นการตัดสินพฤติกรรมของลูก  แต่ช่วยให้เขาได้คิดหาคำตอบหรือหาทางออกด้วยตัวเขาเองจะเหมาะกว่า
                          พูดภาษากาย    ภาษากายช่วยสื่อคำพูดที่อยู่ในใจ  การแสดงออกซึ่งควมรัก  ความเอื้ออาทรด้วยความจริงใจ  อย่างเช่นการใช้สายตาสื่อแสดงความห่วงใย  การกอดและการสัมผัสเบา ๆ  ไม่ว่าในสถานการณ์ที่มีความสุขหรือทุกข์  จะสร้างความประทับใจในทางที่ดีให้เกิดขึ้น
                        แม้การคุยกับลูก  ไม่ใช่เรื่องง่าย  แต่ถ้าคุณเรียนรู้ที่จะใช้คำพูดบางคำ  หรือบางประโยคให้เหมาะสมที่จะสื่อกับลูกของคุณ  จะช่วยให้ลูกแบ่งปันความรู้สึกของเขาให้คุณรับรู้ได้  หัดใช้กุญแจและคำพูดเปิดใจที่เหมาะสมในครอบครัวของคุณบ่อย ๆ  เพื่อสร้างความใกล้ชิดและเสริมบรรยากาศแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน  เพราะนั่นคือกุญแจดอกสำคัญสำหรับการสื่อสารในครอบครัว  ที่สำคัญแบบอย่างที่ดีจากพ่อแม่  จะช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพที่น่าเชื่อถือและมีเสน่ห์ดึงดูดให้ลูกซึมซับกับสิ่งที่ได้เห็นและเรียนรู้ต่อไป
 





รายละเอียด


โดย:
งาน: งานบริหารฝ่ายวิชาการ
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: วารสารทางการศึกษาสำหรับครู

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง