[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

กลวิธี..รับมือกับอาหารเป็นพิษ !!!!

                          รับมือกับอาหารเป็นพิษ

              เข้าสู่สภาวะหน้าร้อนอย่างนี้ โรคหนึ่งที่ต้องเตือนภัยกันไว้ก่อนก็คือโรคที่มากับอาหารการกิน ซึ่งผู้บริโภคจะต้องระมัดระวังเอาใจใส่กันเป็นพิเศษ มิฉะนั้นอาจเกิดอันตรายกับสุขภาพได้ซึ่งก็คืออาหารเป็นพิษนั่นเอง และสืบเนื่องมาจากเพิ่งจะโดนกับตนเองก็เลยอยากจะเตือนภัยสุขภาพจากการรับประทานผ่านเฮลตี้คลินิก เอาเป็นว่ามาดูกันเลยว่าจะหลีกเลี่ยงต่อความเสี่ยงอาหารเป็นพิษอย่างไรดี

            อาหารเป็นพิษ (Food poisoning) คืออาการท้องเดินเนื่องจากการกินอาหารที่มีสารพิษปนเปื้อนเข้าไป อาจเป็นสารพิษที่มาจากเชื้อโรค สารเคมี หรือพืชพิษ รวมถึงอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ จากเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อโรค รวมไปถึงอาหารกระป๋อง อาหารทะเล หรืออาหารค้างคืนที่ไม่ได้อุ่น

            อาการโดยทั่วไปสังเกตง่ายๆคือผู้ป่วยจะมีอาการท้องร่วง คลื่นไส้ และอาการปวดท้องอันเนื่องมาจากเชื้อโรค ทำให้เกิดการอักเสบของลำไส้ อาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัวตามมาด้วย แต่ถ้าคุณมีอาการท้องเสียมากๆ ร่างกายจะเกิดอาการขาดน้ำและเกลือแร่

            บางคนอาจมีอาการรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากมีการติดเชื้อและเกิดการอักเสบที่อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย และเมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิตก็ทำให้เกิดโลหิตเป็นพิษได้ แต่ถ้าพิษนั้นเกิดจากสารเคมีหรือพืชพิษบางชนิด จะมีผลต่อระบบประสาท เช่น ชัก หมดสติ และร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปมักพบในหมู่คนที่กินอาหารร่วมกันและมีอาการพร้อมกันหลายคน ทั้งนี้อาจมีอาการมากน้อยแตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคลและปริมาณที่กิน

            สำหรับวิธีการรักษาเบื้องต้น หากท้องเสียมากเกินไปควรดื่มเกลือแร่เพื่อชดเชยน้ำของร่างกาย ห้ามรับประทานยาหยุดถ่ายโดยเด็ดขาด เพราะอาการท้องร่วงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มักจะหายได้เอง ซึ่งเป็นกลไกธรรมชาติของร่างกายที่จะต้องขับของเสียออกมา และหากพบว่ามีอาการทางระบบประสาทเช่น ชัก หมดสติ หรือสงสัยว่าอาจเกิดจากพิษของยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีอื่นๆ ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

            อย่างไรก็ตามวิธีที่ง่ายที่สุดเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะอาหารเป็นพิษก็คือการล้างมือ โดยล้างมือให้สะอาดทุกครั้งทั้งก่อนปรุงและกินอาหาร ตลอดจนดื่มน้ำที่ต้มสุกสะอาด ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทุกชนิดต้องนำเข้าตู้เย็น เพราะอากาศร้อนจะเป็นที่ชื่นชอบของแบคทีเรียให้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

            ขณะที่ผักผลไม้ต้องผ่านการชำระล้างมาอย่างสะอาดเช่นกันยิ่งถ้าได้แช่ด่างทับทิมทิ้งไว้สักประมาณ 15 นาทีก็จะดีมากเลย

            ส่วนอาหารที่รับประทานไม่หมดหากจะนำกลับมารับประทานใหม่ต้องนำมาอุ่นให้ร้อนเสมอ ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ควรเสียดายของเพราะหากเป็นอาหารหรือขนมหวานประเภทกะทิ ก็จะยิ่งง่ายต่อการบูดเสียมากขึ้น เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถรับมือกับอาหารเป็นพิษได้อย่างสบายปากไม่ลำบากกาย





รายละเอียด


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: คุณรัชนก อมรรักษากุล จากหนังสือ หมอชาวบ้าน

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง