[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : เทิดพระเกียรติ “ในหลวง-พระเทพฯ” ต้นแบบนักคิด นักอ่าน นักฟัง นักเขียน

       “สุรยุทธ์” เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นแบบอย่างที่ดีของนักอ่าน นักฟัง นักคิด และนักเขียน พร้อมเรียกร้องทุกภาคส่วนของสังคมมาช่วยกันปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กและเยาวชนไทย ขณะที่ ศธ.ตั้งเป้าเยาวชนอ่านเพิ่มวันละ 12 บรรทัด ด้าน คุณหญิงชดช้อย แนะโรงเรียนจับมือผู้ปกครอง กระตุ้นเด็กอ่านหนังสือแต่วัยไร้เดียงสา
      
       วันนี้ (13 มิ.ย.) ที่เมืองทองธานี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานเปิดงาน “มหกรรมนักอ่าน” เปิดประตูสู่โลกใหม่ เปิดใจให้เรียนรู้ จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ภาคเอกชน สมาคม มูลนิธิ ศูนย์หนังสือและสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่ร่วมกันขึ้นระหว่างวันที่ 13-17 มิ.ย.
      
       พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวระหว่างเปิดงาน ว่า นิสัยรักการอ่านเป็นดัชนีบ่งบอกศักยภาพของคนไทย เราจำเป็นต้องปลูกฝังนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เยาว์วัย เนื่องเพราะประเทศไทยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีของปวงชนชาวไทย พระองค์ทรงเป็นนักอ่าน นักฟัง นักคิด และนักเขียนที่ยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน พร้อมกันนี้ พระองค์ทรงใช้ประโยชน์จากการที่ทรงอ่านมาก ฟังมาก มาประกอบพระราชวินิจฉัย พัฒนางานตามพระราชภารกิจของพระองค์
      
       ทั้งนี้ การส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนไทยรักการอ่านเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดองค์ความรู้ การรับรู้ข่าวสารต่างๆ ที่ทันต่อเหตุการณ์ อีกทั้งการอ่านมากยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเอง ถ้าหากได้รับการปลูกฝัง พัฒนาทักษะการอ่าน ได้ถึงแก่นแท้ และอ่านอย่างมีวิจารณญาณ พินิจพิจารณาอย่างเท่าทันจุดมุ่งหมายของสารสนเทศที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างไร้ขอบเขตในโลกแห่งยุคดิจิตอล ก็จะเป็นองค์ความรู้ใหม่ ส่วนเยาวชนนำมาปรับใช้ นำมาประกอบการตัดสินใจ แก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น
      
       พล.อ.สุรยุทธ์ ระบุว่า ขณะนี้สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทักษะการอ่านและการสื่อสาร เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้คนในชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข สันติ และสมานฉันท์ ดังคำกล่าวที่ว่า “คนอ่านมากย่อมรู้มาก” ยังเป็นคำกล่าวที่ใช้ได้เสมอมาและยังจำเป็นมากยิ่งขึ้นในโลกปัจจุบัน เพราะคนที่อ่านมากย่อมมีข้อมูลมาก ด้วยเหตุนี้การตัดสินใจบนพื้นฐานจากข้อมูลมากโอกาสที่จะผิดพลาดย่อมมีน้อย จุดนี้ถือเป็นประโยชน์ประการหนึ่งของการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านที่นอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์ของการจัดงาน
      
       ทั้งนี้ ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2546-2548 พบว่า พฤติกรรมการอ่านหนังสือของประชากรไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 โดยมีกลุ่มวัยเด็กอ่านหนังสือมากที่สุดร้อยละ 87.7 รองลงมาเป็นกลุ่มวัยรุ่นร้อยละ 83.1 ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมการอ่านหนังสือค่อนข้างสูงกว่ากลุ่มวัยอื่นๆ บ่งชี้ถึงผลสำเร็จเบื้องต้นที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมแรงร่วมใจจัดกิจกรรม รณรงค์ส่งเสริมรักการอ่าน
      
       ด้าน ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการะทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การจัดมหกรรมนักอ่านครั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนรักการอ่านมากยิ่งขึ้น การอ่านนับได้ว่าเป็นพื้นฐานสำคัญในการแสวงหาความรู้เพื่อนำไปใช้พัฒนาตนเองในทางสร้างสรรค์ได้ตลอดชีวิต การรณรงค์ให้เยาวชนรักการอ่านนั้นต้องขับเคลื่อนแบบองคาพยพ จำเป็นจะต้องส่งเสริมตั้งแต่ภายในและนอกสถานศึกษา ตลอดจนครอบครัวอีกด้วย
      
       “มหกรรมนักอ่านจัดขึ้นเพื่อปลูกฝังและสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนเป็นนักอ่าน โดยจะเสริมสร้างและพัฒนาครูบรรณารักษ์ ครูผู้สอน ให้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านภายในห้องสมุด ตลอดจนกระตุ้นให้เยาวชนเป็นนักอ่านอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต”
      
       ขณะที่นางจรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2546 คนไทยอ่านหนังสือ 7 บรรทัดต่อคนต่อวัน แต่หลังจากที่ทุกฝ่ายจัดกิจกรรมกระตุ้นให้เด็ก เยาวชน รักการอ่านผ่านกิจกรรมต่างๆ พบว่าปี 2550 คนไทยมีนิสัยรักการอ่านดีขึ้นร้อยละ 7 โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนอ่านหนังสือมากขึ้น แต่ ศธ.ยังไม่ได้ตีค่าออกมาว่าคนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเป็นวันละกี่บรรทัด แต่ ศธ.ตั้งเป้าไว้ที่12 บรรทัดต่อวัน
      
       คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช ประธานกรรมการอุทยานการเรียนรู้ แสดงความเห็นว่า มหกรรมนักอ่าน ซึ่งมีนิทรรศการ หนังสือหลากหลายที่น่าสนใจ หรือเว็บไซต์ต่างๆ ที่จะช่วยให้เด็กเข้าไปเรียนรู้นั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งให้เด็ก เยาวชนรู้ว่าสิ่งดีให้พวกเขาค้นหา เข้าไปเรียนรู้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเองทั้งสิ้น
      
       แต่ไม่ใช่ว่าพองานนี้ปิดฉาก เด็ก เยาวชน ก็เลิกค้นคว้าหาความรู้ใหม่นอกเหนือจากห้องเรียน ซึ่งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู ต้องร่วมมือกันเพื่อปลูกฝังให้เด็ก เยาวชน มีพฤติกรรมอ่านหนังสืออย่างต่อเนื่องและอ่านทุกวัน จะเป็นหนังสือประเภทไหนก็ได้
      
       “วิธีหนึ่งที่ง่ายซึ่งโรงเรียนต้องร่วมกับผู้ปกครอง อย่างเด็กเล็กๆ ยังอ่านหนังสือเองไม่ได้ ครูอาจให้เด็กยืมหนังสือกลับบ้าน เพื่อให้ผู้ปกครองอ่านให้เด็กฟัง จากนั้น 2-3 วัน อาจถามนักเรียนว่าหนังสือเล่มนี้มีเนื้อเรื่องอย่างไร ชอบมั้ย คือพูดคุยกับเด็ก จะทำให้รู้ว่าเด็กมีพัฒนาการอย่างไร เมื่อเด็กเติบโตขึ้นพอที่จะอ่านหนังสือเองได้แล้ว เขาจะเลือกหนังสืออ่านเอง แล้วอีกไม่ช้าไม่นาน ผลการสำรวจการอ่านหนังสือของสำนักงานสถิติแห่งชาติ น่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้น”
      
       อนึ่ง มหกรรมรักการอ่าน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-17 มิ.ย.ที่ฮอลล์ 9 อิมแพค เมืองทองธานี ภายในงานแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 เมืองหลัก คือ เมืองห้องสมุดสมัยใหม่ แบ่งโซนเป็นห้องสมุดให้เหมาะสมในแต่ละวัย เมืองไอที เป็นโซนการเรียนรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเมืองนักอ่าน จัดมุมหนังสือต่าง ๆ เช่น มุมนิทานไทย มุมหนังสือหายาก และยังมีนิทรรศการที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพกษัตริย์นักพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ อาทิ พระมหาชนก และทองแดง และนิทรรศการเจ้าฟ้านักอ่านให้คนไทยชื่นชมพระอัจฉริยภาพในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ 13 มิถุนายน 2550 14:04 น.

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง