[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : ศธ. เตรียมทำ “สคูล แม็ปปิ้ง” กำกับคุณภาพร.ร.เอกชนรับพ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน

      ศธ. เตรียมทำ “สคูล แม็ปปิ้ง” ของโรงเรียนเอกชน เน้นจัดโครงสร้างระบบบริหารจัดการ มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน เพื่อกำกับติดตามคุณภาพ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน คาดมีผลบังคับใช้ภายในปี2550นี้
     
      นางจรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า หลังจากเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. .....ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้วนั้น ศ.ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษา ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดทำสคูล แม็ปปิ้ง (School Mapping) ในส่วนของโรงเรียนเอกชนทุกประเภทและทุกระดับทุกเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อจัดโครงสร้างระบบบริหารจัดการ และผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน สำหรับกำกับติดตามคุณภาพ โดยเฉพาะในบางพื้นที่ เช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรจะมีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ดูแลมากกว่าพื้นที่อื่น เนื่องจาก มีจำนวนโรงเรียนเอกชนจำนวนมาก และจะต้องดูแลให้ทั่วถึงทั้งตาดีกา สถาบันศึกษาปอเนาะ และโรงเรียนเอกชนนอกระบบด้วย
     
      นางจรวยพร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้จะให้กลุ่มการศึกษาเอกชน ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายกเว้นกรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลโรงเรียนเอกชนทุกประเภท แต่ในส่วนของโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนจะใช้มาตรฐานวิชาการของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดังนั้นศธ.จะจัดฝึกอบรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(ผอ.สพท.) และหัวหน้ากลุ่มงานการศึกษาเอกชนให้เข้าใจกระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับ ร่าง พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน ฉบับใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ทันปี 2550 นี้
     
      นางจรวยพร กล่าวด้วยว่า สำหรับพ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนที่ครม.มีมติเห็นชอบไปแล้วนั้น มีสาระสำคัญที่ปรับเปลี่ยนไปจากเดิม คือให้ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จากเดิมที่ให้ ปลัด ศธ. เป็นประธาน โดยมีหน้าที่นำเสนอนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาเอกชน และกำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน รวมถึงกำหนดมาตรฐานและแผนพัฒนาหลักสูตรการศึกษาเอกชน และกำหนดให้คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน นำกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางการปกครองมาใช้บังคับแก่การประชุมและการวินิจฉัย ชี้ขาดในเรื่องต่าง ๆ ทั้งนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนเป็นหน่วยงานใน สำนักงานปลัด ศธ. ที่มีเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เป็นผู้บังคับบัญชา จากเดิมที่มี ผู้อำนวยการ กช. เป็นผู้บังคับบัญชา
     
      ปลัดศธ.กล่าวอีกว่า ในส่วนการจัดตั้งโรงเรียนในระบบในประเภท และระดับใดให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนกำหนด และต้องได้รับใบอนุญาต สำหรับโรงเรียนเอกชนในระบบให้ถือเป็นนิติบุคคลนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต และให้ผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้แทนของนิติบุคคล เมื่อเป็นนิติบุคคลแล้ว ให้มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับที่ดิน เงิน ทรัพย์สิน จัดให้มีคณะกรรมการบริหารและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ โรงเรียนในระบบจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมทั้งปวงตามประมวลกฎหมายที่ดินและภาษีอากรตามที่จะได้มีพระราชกฤษฎีกาออกตามประมวลรัษฎากร
     
      “นอกจากนี้ ให้โรงเรียนเอกชนในระบบต้องมีคณะกรรมการบริหารโรงเรียนประกอบด้วยผู้รับใบอนุญาต ผู้จัดการ ผู้อำนวยการ ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนครู และผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นกรรมการ โดยคณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ออกระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ตลอดจนให้ความเห็นชอบนโยบายและแผนพัฒนาการศึกษา”นางจรวยพรกล่าว
     
      นางจรวยพร กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.... ยังกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ให้การอุดหนุนและส่งเสริมโรงเรียนเอกชนในระบบ ให้มีกองทุนส่งเสริมโรงเรียนเอกชนในระบบขึ้นในกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับการให้กู้ยืมเงินแก่โรงเรียนในระบบและเงินของกองทุนไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง มีกองทุนสงเคราะห์มีฐานะเป็นนิติบุคคลเพื่อสงเคราะห์ผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงการจ่ายเป็นเงินทุนเลี้ยงชีพการจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ การส่งเสริมการออมทรัพย์และการจ่ายเป็นเงินสวัสดิการสงเคราะห์ และให้มีคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ มีอำนาจบริหารกิจการของกองทุน
     
      อย่างไรก็ตาม ที่ ครม.ขอให้แก้ไขมี 1 ประเด็น คือ การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการศึกษาเอกชนโดยให้ยุบกองทุนเพื่อพัฒนาการศึกษาเอกชนและกองทุนวิทยาคารสงเคราะห์ที่มีอยู่เดิมมารวมเป็นกองทุนใหม่ ซึ่งกำหนดให้โรงเรียนในระบบที่มีผลกำไร ต้องส่งเงินเข้ากองทุนร้อยละ 5 ของผลกำไร โดยรัฐจ่ายสมทบด้วยนั้น ครม.ได้ให้ตัดความว่า “ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของเงินตามที่ผู้รับใบอนุญาตจ่ายสมทบ” ในส่วนท้ายของร่างมาตรา 49 (3) ออก เพื่อให้รัฐจ่ายตามความเหมาะสมแทน และให้นำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ 15 กรกฎาคม 2550 17:17 น.

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง