[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : วธ.ทำแผนแม่บทใช้ภาษาไทยและภาษาถิ่น หลังพบคนรุ่นใหม่หมางเมิน

        วธ.เตรียมจัดทำแผนแม่บทเกี่ยวกับใช้ภาษาไทยและภาษาถิ่น หลังเดินสายรวบรวมข้อมูลจากทุกภาค พบคนรุ่นใหม่ไม่นิยมใช้ภาษาถิ่นของตัวเอง และนิยมตั้งชื่อเล่นฝรั่ง เผยสื่อญี่ปุ่นสนใจ ด้านปราชญ์อีสานห่วงวัยรุ่นลืมภาษาถิ่น ภาษาเขียน และวรรณกรรมท้องถิ่น
     
      นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการเสวนา “ภาษาถิ่นก็ภาษาไทย” (ภาษาถิ่นอีสาน) ว่า ขณะนี้ วธ.มีความเป็นห่วงเรื่องการใช้ภาษาไทยและภาษาถิ่น รวมทั้งการตั้งชื่อเล่นของคนรุ่นใหม่ เพราะถูกกลืนด้วยวัฒนธรรมตะวันตก จึงได้จัดการเสวนาขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อให้เกิดการตื่นตัวเกี่ยวกับการใช้ภาษาถิ่น ภาษาไทย ซึ่งขณะนี้มีหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่น 2 ฉบับ ให้ความสนใจกับปัญหาดังกล่าว เพราะวัยรุ่นญี่ปุ่นมีการตั้งชื่อเล่นฝรั่งเช่นกัน ดังนั้น วธ.จะรวบรวมปัญหาเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยและภาษาถิ่นที่เกิดขึ้น จัดทำเป็นแผนแม่บทแห่งชาติ เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
     
      ด้านนายบุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล นักปราชญ์ด้านภาษาถิ่นอีสาน กล่าวว่า ภาษาถิ่นอีสานมีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน โดยจะมีการจารึกเรื่องราวต่าง ๆ เช่น วรรณกรรม คำสอน นิทาน ชาดก ประวัติศาสตร์พื้นถิ่น เป็นต้น ด้วยอักษรขอม ตัวอักษรไทน้อย และตัวอักษรธรรมลงในคัมภีร์ใบลาน เพื่อเก็บรวบรวมไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา แต่ปัจจุบันบ้านเมืองมีความเจริญมาก ภาษาอีสานจึงเปลี่ยนแปลง รวมทั้งส่วนกลางยังให้ข้าราชการมาบริหารจังหวัดในภาคอีสานด้วย ซึ่งบุคคลเหล่านี้ยังมีความเข้าใจว่า ภาษาอีสานเป็นภาษาไม่สุภาพ เช่น คำว่าขี่ (คนอีสานจะออกเสียงว่า “ขี้” ) ขี่เกี้ยม (จิ้งจก) บักหำ หำน่อย (เด็กน้อย) เป็นต้น โดยทางราชการเปลี่ยนการตั้งชื่อบ้านชื่อเมืองใหม่ ๆ ในภาคอีสานว่า ต้องใช้ชื่อเป็นภาษาไทยกลาง ซึ่งไม่คำนึงถึงความหมายดั้งเดิมว่าจะผิดเพี้ยนไปหรือไม่
     
      ด้าน รศ.อุดม บัวศรี นักปราชญ์ด้านภาษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) กล่าวว่า คนอีสานรุ่นใหม่นิยมวัฒนธรรมจากต่างถิ่นเข้ามาแทนที่ ซึ่งเคยพบว่า คณะการแสดงสรภัญญ์ ซึ่งเป็นการแสดงพื้นบ้านขับขานเพลงปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม กลับถูกคนอีสานรุ่นใหม่โห่ไล่ห้ามแสดง เพราะอยากจะดูดนตรีแทน เป็นภาพสะท้อนความล้มละลายทางวัฒนธรรม และถูกคุกคามจากลูกหลานรุ่นใหม่ด้วยกันเอง
     
      ด้านนายเคน ดาเหลา ศิลปินแห่งชาติ สาขาการแสดงพื้นบ้าน (หมอลำ) กล่าวว่า คำว่าอีสานจริงไม่ใช่คำที่มีความหมายต่ำต้อย แต่เป็นชื่อของเทพเจ้าที่คนในภูมิภาคนี้บูชาสูงสุด ดังนั้น จึงขอฝากไปถึงเยาวชนรุ่นใหม่ที่เกิดเป็นลูกหลานอีสาน ควรมีความภาคภูมิใจในเชื้อชาติ สำนึกรักบ้านเกิด และอย่าดูถูกรากเหง้าของตนเอง.





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ 16 กรกฎาคม 2550 19:36 น.

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง