[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : เบื้องหลังเด็กไทยได้แชมป์โลก “หุ่นยนต์กู้ภัย” สองปีซ้อน(1)/ดร.ชิต เหล่าวัฒนา

        สุดยอดจริงๆครับสำหรับเด็กไทยที่ไปสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศเทศไทยในการเป็นแชมป์โลก“หุ่นยนต์กู้ภัย” สองปีซ้อน ของการแข่งขันเวิลด์โรโบคัพ (WorldRoboCup) ผมได้ขอให้ ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ให้ข้อมูลเบื้องหลังความสำเร็จดังต่อไปนี้ครับ
     
      การแข่งขัน WorldRoboCup นี้มีขึ้นติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี โดยมีการเวียนจัดไปตามประเทศต่างๆ ตามโอกาสและเวลา ในช่วงเวลา 4-5 ปี ที่ผ่านมา สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ได้เข้ามามีบทบาทในการจัดการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทย ในการแข่งขันต่างๆ ที่สามารถไปเข้าร่วมกับการแข่งขันเวิลด์โรโบคัพได้ โดยเริ่มที่ การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทซีเกทเทคโนโลยี ซึ่งตรงกับการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ขนาดเล็ก (Robot Soccer – Small Size League)
       
      และเมื่อ3 ปีที่ผ่านมาสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยได้ร่วมมือกับเครือซิเมนต์ไทย เพื่อจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ใหม่ขึ้น คือ การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์ประเทศไทย เพื่อคัดเลือกหาตัวแทนเข้าร่วมชิงแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์โลก (WorldRoboCup Rescue) ซึ่งการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยได้รับความสนใจจากนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ในประเทศเป็นอย่างมาก อาจเป็นเพราะหุ่นยนต์ที่ได้พัฒนาขึ้น เป็นหุ่นยนต์ที่มีความใกล้เคียงกับหุ่นยนต์ที่จะประยุกต์ใช้ได้จริง จึงเป็นที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก
     
      ก่อนอื่นก็ต้องอธิบายทางเทคนิคว่าหุ่นยนต์กู้ภัยที่พูดถึงและใช้ในการแข่งขันนี้่เป็นอย่างไร หุ่นยนต์กู้ภัย โดยมากจะเป็นหุ่นยนต์เคลื่อนที่ขนาดกลางขนาดไม่ใหญ่กว่า 70 x 70 x70 ลบ.ซม. ก็ขนากเล็กกว่ารถไฟฟ้าที่เด็กอายุสัก 5-6 ขวบสามารถขึ้นไปขี่ได้ และน้ำหนักรวมก็ไม่น่าจะเกิน 70 กิโลกรัม หุ่นยนต์กู้ภัยจะต้องมีสมรรถนะในการเคลื่อนที่ในพื้นที่จำลองซากปรักหักพังของเราได้ รวมถึงการเคลื่อนที่ปีนขึ้นลงบันไดชัน และทางลาดชันกว่า 30 องศาได้
     
      นอกจากนี้หุ่นยนต์กู้ภัยต้องมีความสามารถในการเก็บข้อมูล ของเหยื่อเคราะห์ร้าย เช่น รูปลักษณ์ การเคลื่อนไหว การส่งเสียงขอความช่วยเหลือ ความร้อน และการหายใจ โดยตรวจปริมาณคาร์บอนไดออกฆไซด์ในบริเวณรอบๆ เหยื่อเคราะห์ร้าย ทั้งนี้หุ่นยนต์ดังกล่าว อาจจะเป็นหุ่นยนต์ควบคุมระยะไกล (Tele-Operative Robot) หรือหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ (Autonomous Robot) ก็ได้ ซึ่งหุ่นยนต์ควบคุมระยะไกลจะเป็นที่นิยมมากกว่า เพราะความยุ่งยากซับซ้อนและความต้องการทางด้านเงินทุนสนับสนุนที่น้อยกว่า
     
      การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์ประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2547 โดยมีทีมเข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้นมากกว่า 60 ทีม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ผศ.ดร.ทวีเดช ศิริธนาพิพัฒน์ เป็นผู้ดำเนินการจัดการแข่งขันภายใต้ความดูแลของสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยและการสนับสนุนของเครือซิเมนต์ไทย ทีมชนะเลิศ คือ ทีม อินดิเพนเดนท์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปราจีนบุรี ผมยังจำได้ว่าน้องๆ ในทีมยังดูอ่อนประสบการณ์อยู่มาก ในปีนั้นหลังจากทีม อินดิเพนเดนท์ชนะเลิศชิงแชมป์ประเทศไทย ก็จะต้องเตรียมตัวไปเข้าร่วมการแข่งขันเวิลด์โรโบคัพ เรสคิว (WorldRoboCup Rescue 2005) ที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น
     
      ปีนั้นผมไปร่วมสังเกตการณ์ที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย ก็พบว่า น้องๆ ในทีมนำทีมโดย นายพินิจ (โน๊ต) เขื่อนสุวงศ์ เป็นกลุ่มนักศึกษาที่มีความเป็นกันเอง ฉลาด มุ่งมั่น และมีจิตใจที่ดีไม่คิดร้ายต่อคู่ต่อสู้ แม้ว่าอยู่ในระหว่างการแข่งขัน ผมได้มีโอกาสเข้าไปแนะนำและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอยู่บ้าง
     
      ปีนั้นทีม อินดิเพนเดนท์ ได้ผ่านเข้ารอบไปจนถึงรอบ เซมิไฟแนล (Semi-Final) ซึ่งก็เป็นที่น่าดีใจเป็นอย่างยิ่งกับความสำเร็จสำหรับทีมหน้าใหม่จากประเทศไทยอย่างเรา อย่างไรก็ตามหุ่นยนต์จากทีมอินดิเพนเดนท์ ก็เป็นที่สนใจมากอยู่ เพราะเป็นหุ่นยนต์ขับเคลื่อนด้วยล้อ จำนวน 10 ล้อเรียงต่อกัน และทำงานได้อย่างเป็นที่น่าประทับใจ ทั้งนี้ทีมอื่นๆ จะเน้นใช้หุ่นยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยสายพานคล้ายรถถัง และแชมป์โลกในปีนั้นคือ ทีม เพลลิแกนยูไนเต็ด (Pelican United) จากประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง
     
      ในปีต่อมาการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์ประเทศไทยปี 2548 ปีนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยผมมีหน้าที่เป็นพ่องานจัดการแข่งขัน ภายใต้ความดูแลของสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยและสนับสนุนโดยเครือซิเมนต์ไทยเช่นเคย
     
      ปีนี้บอกได้ว่า มาตรฐานของหุ่นยนต์ที่มาเข้าร่วมการแข่งขันสูงขึ้นกว่าปีแรกเป็นอย่างมาก ทั้งหมดมีทีมเข้าร่วมสมัครมากกว่า 100 ทีม การแข่งขันแบ่งเป็นสองรอบ คือ รอบคัดเลือก (จากทั้งหมดคัดให้เหลือ 8 ทีม) และรอบชิงชนะเลิศจัดขึ้นที่ เอ็มซีซี ฮอลล์ เดอะมอลล์งามวงค์วาน
     
      ปีนี้ทีม อินดิเพนเด้นท์ ก็พัฒนาขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องระบบการติดต่อสื่อสารไร้สาย ระหว่างหุ่นยนต์และสถานีควบคุมระยะไกล ที่ทำได้ดีอย่างไร้ปัญหา อย่างไรก็ตามถึงแม้ทีมอินดิเพนเดนท์จะเป็นแชมป์เก่า ที่ผ่านการแข่งขันในระดับโลกมาแล้ว ก็ไม่ได้ทิ้งห่างทีมต่างๆ ในรอบชิงชนะเลิศภายในประเทศของเรา นั่นก็แสดงให้เห็นว่า มาตรฐานการแข่งขันของเรา และความสามารถของนักศึกษาของเราอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก
     
      ในที่สุดผลก็ออกมาว่า ทีมอินดิเพนเดนท์ สามารถป้องกันแชมป์ประเทศไทยได้เป็นปีที่ 2 โดยครั้งนี้ผมจะต้องทำหน้าที่เป็น “โค้ช” พาน้องๆ ทีมอินดิเพนเดนท์ ไปร่วมการแข่งขันชิงแชมป์เวิลด์โรโบคัพ เลสคิว (WorldRoboCup Rescue 2006) ที่เมืองเบรเมน ประเทศเยอรมันนี
       
       
      (อ่านต่อตอนที่ 2 ฉบับวันที่ 24 ก.ค.)





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ 17 กรกฎาคม 2550 08:32 น.

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง