[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าว HR : ทำไมต้องเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคมให้อยู่ในจิตสำนึกของ ผู้บริหารองค์กรในยุคปัจจุบัน... ( ตอนที่ 2 จบ)

                                                                                                                                                    โดย  ว่าที่ร.ต.สมชาย  พุกผล
                                                                                                                [email protected]
                                                                                            (วิทยากร และที่ปรึกษาอิสระ ด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์)


            เมื่อตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่าผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจ ควรเสริมสร้างคุณธรรม และจริยธรรม ในเรื่องใดบ้าง ในตอนนี้เราจะติดตามต่อว่า ในเรื่องของภาวะผู้นำ และเป็นผู้ที่กล้าเปลี่ยนแปลง นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรที่ผู้บริหารควรเสริมสร้าง ให้เกิดขึ้น หรือมีอยู่ในตัวเอง...
            ผู้บริหาร ที่ดีนั้นควรจะเป็นผู้ที่มี ภาวะผู้นำ (Leadership) กล่าวคือ

                1.  รู้จักวิเคราะห์บนพื้นฐานความเป็นจริง (SWOT) เพื่อรู้จุดเด่น (Strength), จุดด้อย (Weakness), โอกาส (Opportunity) และอุปสรรค (Tread) ตนเองอยู่เสมอ
                2.  ควรเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ อย่าช่วยเหลือแนะนำมากเกินไป
                3.  ควรรู้จักให้กำลังใจแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา โดยยึดหลัก ทำดีควรได้รับการชมเชยในที่เปิดเผย ทำผิดต้องได้รับการตำหนิในที่เป็นส่วนตัว
                4.  ควรส่งเสริม (Promote) สนับสนุนผู้ใต้บังคับบัญชา เมื่อเขาทำดีมีผลงาน
                5.  รู้จักใช้วิธีบริหารแบบยืดหยุ่น (Flexibility) เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์
                6.  รู้จักวางแผนงาน มอบหมายงาน และสั่งงาน โดยรู้จักใช้คนให้เหมาะกับงาน ตามหลักการ  “put the man on the right job”
                7.  ควรรู้จักกระตุ้นให้ผู้ใต้บังคับบัญชาแสดงทัศนะ ความคิดเห็น โดยควรรับฟังอย่างตั้งใจ
                8.  ควรให้ความสนใจสวัสดิภาพ สวัสดิการ ความเป็นอยู่ ของผู้ใต้บังคับบัญชา
                9.  ควรมีมิตรภาพนอกเวลาทำงาน แสดงความยินดี เอื้ออาทรต่อผู้ใต้บังคับบัญชา และสมาชิกใน ครอบครัวของผู้ใต้บังคับบัญชาตามโอกาสอันควร
                10.  ควรเป็นคนมีอารมณ์ขัน พูดคุยเล่นกับผู้ใต้บังคับบัญชาบ้างตามโอกาสอันควร
     
            มาถึงตรงนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึง ร้อยกรอง อยู่บทหนึ่งที่มีความหมายว่า มนุษย์หรือสัตว์ เมื่ออยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นพรรค เป็นพวก ต้องมีผู้นำ คนที่ได้เป็นผู้นำนั้น บางคนก็ได้รับความเคารพนับถือ ศรัทธาเลื่อมใส รักใคร่จากสมาชิกในกลุ่ม  ผู้นำบางคนก็ดูธรรมดา ๆ สมาชิกในกลุ่มรู้สึกเฉย ๆ แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ผู้นำที่สมาชิกในกลุ่มส่วนใหญ่บ่น ด่า ไม่เคารพนับถือ นั้นผู้นำนั้นควรทำตนอย่างไร ?


      “โขลงช้างย่อมมีพญาสาร                            ครอบครองบริวารทั้งหลาย
ฝูงโคขุนโคก็เป็นนาย                                      ต่างหมายนำพวกไปหากิน
ฝูงหงส์มีเหมราชา                                          สกุณามีขุนปักษิน
เทวายังมีสักรินทร์                                          เป็นปิ่นเทวัญชั้นฟ้า
หมู่คนจะตั้งเป็นคณะ                                        ต่างคิดเกะกะตามประสา
จะอยู่ไปได้ดีกี่เวลา                                          ดูน่าจะยับอับจน
จำเป็นต้องมีหัวหน้า                                          กะการบัญชาให้เป็นผล
กองทัพบริบูรณ์ด้วยผู้คน                                  ไม่มีจุมพลจะสู้ใคร” 

            การปกครองคนในสมัยนี้ จะใช้อำนาจ หรือพระเดชเพียงอย่างเดียวเหมือนเมื่อครั้งอดีตกาลก่อนคงทำไม่ได้ เพราะคนสมัยนี้มีการศึกษา มีความคิดความอ่านดีขึ้น สามารถรับความรู้ได้จากทุกทิศทุกทาง หรือที่เรียกว่า โลกไร้พรมแดน (Global Network) ความรู้ใดๆ ในโลกนี้ ไม่มีวันที่จะศึกษาเล่าเรียนได้จบสิ้น และไม่มีใครที่แก่เกินที่จะเรียน จะต้องศึกษาไปเรื่อยๆ ความรู้ประสบการณ์ที่เคยใช้ที่หนึ่ง อาจนำไปใช้ในอีกที่หนึ่งไม่ได้ ดังนั้นท่านที่เป็นผู้บริหาร หรือผู้ที่มีอำนาจ หากท่านเป็นชาวพุทธก็ขอให้ ปฏิบัติตามหลักธรรมของพุทธศาสนาให้ได้ อย่างน้อยขอให้รักษาศีล 5 ให้ได้ แล้วท่านจะได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่  “(1) ไม่โหดร้ายอำมหิต (2) ไม่ทุจริตคอรัปชั่น (3) ไม่กระสันต์สำส่อน (4) ไม่กะล่อนร้ายกาจ (5) ไม่เป็นทาสสิ่งเสพติด”
ก็คือ ศีลทั้ง 5 ข้อ ของสาธุชนที่ดีนั่นเอง

            ผู้บริหาร ที่ดีนั้นต้องกล้าที่จะ เปลี่ยนแปลงตัวเอง (Change Agent) กล่าวคือ ถึงแม้ว่ากระแสการบริหารความเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยจะได้รับความสนใจจาก องค์กรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนต่าง ๆ มากยิ่งขึ้นแต่คิดว่ากระแสการเปลี่ยนแปลงในตัวบุคคลยังไม่ค่อยมีมากนักโดยเฉพาะการบริหารการเปลี่ยน แปลงตัวเองของผู้บริหารในบ้านเมืองเรา เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักจะเป็นฝ่าย ตั้งรับการเปลี่ยนแปลงมากว่าผู้เขียนจึงขอแนะนำให้ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจขององค์กร ให้มีความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองในเรื่องดังนี้

              1.  ต้องเปลี่ยนแปลงความคิด  หลายคนมักจะยึดติดกับความคิดเดิม ๆ ความคิดเดิมคอยสอนเราว่าถ้าคิดแบบนี้ถูก คิดแบบนี้ผิด ผู้บริหารบางคนไม่กล้าที่จะคิดให้ต่างจากความคิดที่มีอยู่เดิม หรือคิดนอกกรอบบ้างเลย ต้องยอมรับว่าความคิดของคนเราได้รับอิทธิพลมาจากประสบการณ์,ทัศนคติ,ความเชื่อ มีบางคนไม่กล้าคิดอะไรที่แตกต่างไปจากเดิมเลยการที่จะทำให้เรากล้าที่จะคิดมากขึ้นนั้นต้องอย่าคิดเพียงแค่ในสมองให้ความคิดออกมาโลดแล่นลงบนแผ่นกระดาษโดยการเขียน หรือพิมพ์บันทึก เพราะจะสามารถมองเห็นความคิดทั้งที่เป็นความคิดแบบเดิม ๆ และมองความคิดแบบใหม่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
              2.  ต้องประยุกต์ความคิดให้เป็นแนวทางที่ปฏิบัติได้ หลังจากกล้าคิดแบบออกนอกกรอบเดิมบ้างแล้ว อุปสรรคสำคัญที่คอยขัดขวางความก้าวหน้าของเราอีกขั้นก็คือ การนำเอาความคิดที่ได้ไปลงมือปฏิบัติจริง ใครที่ไม่กล้าเสี่ยง ใครที่เกรงว่าจะทำได้ยาก ใครที่กลัวว่าจะทำไม่สำเร็จ ให้นำความคิดที่ได้ทั้งหมดมากำหนดเป็นแผนงาน (Planning) สำหรับการกระทำให้เป็นขั้นเป็นตอนเพื่อให้ง่ายในการปฏิบัติ เช่น การทำใบรายการตรวจสอบ (Checklist) มีข้อแนะนำว่าการจะเริ่มเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามขอให้เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงจากเล็กไปหาใหญ่ เริ่มจากสิ่งที่เราชอบมากที่สุดไปสู่สิ่งที่เราชอบน้อยที่สุด
              3.  ต้องยอมรับผลของการเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างมีสติ  เมื่อกล้าคิดและกล้าลงมือทำการเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้ว สิ่งที่อยากจะแนะนำอีกอย่างก็คือ เราต้องกล้าที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงซึ่งไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปใน ทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลง ฉะนั้นก่อนการลงมือเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามควรวิเคราะห์เพื่อคาดการณ์ผลการของการเปลี่ยนแปลงไว้ล่วงหน้าว่าถ้าเลวร้ายที่สุดจะเกิดอะไรขึ้น และถ้าดีที่สุดจะเกิดอะไรขึ้นเราต้องกล้า ทำใจยอมรับผลของการกระทำตั้งแต่ก่อนลงมือกระทำจริง หนทางที่จะช่วยให้เรายอมรับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ดีได้นั่นก็คือ การคิดบวก (Positive Thinking) เช่น พลาดคราวนี้เป็นบทเรียนที่จะต้องไม่เกิดซ้ำอีก หรือเป็นโอกาสในการปรับปรุงตนเองอีกครั้ง วันนี้ไม่สำเร็จพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ ฯลฯ เป็นการรู้จักใช้วิกฤติที่เกิดจากผลการเปลี่ยนแปลงให้เป็นโอกาสที่ดีขึ้นในคราวต่อไป อย่าตีโพย ตีพาย หรือถอดใจเสียก่อน

“การเปลี่ยนแปลง” เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามปกติซึ่งในทางพุทธศาสนากล่าวว่าสิ่งใดในโลกล้วน อนิจัง คือความไม่เที่ยง ดังนั้นการที่ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจ จะบริหารงานให้ได้รับประโยชน์มาก หรือน้อยนั้นผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ต่อเรื่องที่มองว่าธรรมดา แต่ไม่ธรรมดานี้ เพื่อความสำเร็จของตนเองและองค์กร

              ผู้บริหาร ที่ดีนั้นควรจะ บริหารงานในเชิงรุก (Proactive) การบริหารที่ดีต้องมีการคาดการณ์ และวางแผนไว้ล่วงหน้าอย่างเหมาะสมเพื่อรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยองค์ประกอบอยู่ 3 ด้าน คือ

                    1.  โครงสร้างของการบริหาร (Structure Management) ในองค์กรต่าง ๆ ย่อมมีการจัด Organize ภายใน ให้ทำหน้าที่อันหลากหลายแตกต่างกัน การพิจารณาว่าหน่วยงานไหนควรเพิ่มบทบาทหรือลดความรับผิดชอบ เป็นสิ่งที่ผู้บริหารต้องทบทวนเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเป็นระยะ
                    2.  กระบวนการในการทำงาน (Process Working) วิธีการทำงานเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความทันสมัย หรือความมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ซึ่งการบอกได้ว่าองค์กรใด มีกระบวนการทำงานที่ดี ในมิติของ Proactive คงต้องพิจารณาว่า มีการคิดในการปรับปรุงการทำงาน หรือนำระบบการทำงานใหม่ ๆ มาใช้หรือไม่
                    3.  การดูแลบุคลากร (Man) ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการบริหารเชิงรุก คือ บุคลากร หรือคนที่ดำรงอยู่ในองค์กรซึ่งผู้บริหารต้องมีการสำรวจความพร้อม ขวัญและกำลังใจโดยต้องเริ่มจากสภาพปัจจุบันว่ามีวัฒนธรรมการทำงาน มีความรู้ความสามารถ มีทัศนคติต่อการทำงาน หรือมีความเป็นอยู่อย่างไร ซึ่งคงต้องนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับภาวะที่ต้องการเปลี่ยนแปลง โดยต้องหาช่องทางเพื่อพัฒนาคนในองค์กรต่อไป

            จากการที่ผู้บริหารขององค์กรยุคปัจจุบัน จำเป็นต้องเร่งปรับตัว และเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมอีกประการหนึ่งที่สำคัญ ก็คือความตระหนักในการร่วมรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) ทั้งในระดับท้องถิ่น และสังคมในระดับชาติ
 
ซึ่งองค์กรต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงในแวดวงธุรกิจจะต้องแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสาธารณะ โดยจะไม่ทำธุรกิจ หรือกิจการใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และต้องดำเนินการทุกอย่างด้วยประสิทธิผลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมในระดับท้องถิ่น และต้องต่อยอดไปให้ถึงสังคมในระดับประเทศ ทำให้ผู้บริหาร ที่ดีควรมีความตระหนักในเรื่องนี้โดยอยู่ภายใต้มุมมองอย่างน้อย  4 ประการ คือ  (1.) ด้านผลประโยชน์ต่อคนจำนวนมาก  (2.) ด้านเป็นผู้วิสัยทัศน์ที่มองการไกล  (3.) ด้านศีลธรรม เคารพในหลักสิทธิมนุษยชน  (4.) ด้านความยุติธรรม มีความเป็นธรรม โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ


โดยทั้งนี้อาจมีสาเหตุมาจากเหตุผลทางจริยธรรม หรือเหตุผลทางธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างพร้อมกัน เนื่องจากองค์กรทราบดีว่าใน การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้เข้าสู่การรับรู้ของสังคม เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างความมั่นคง อย่างยั่งยืน ทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับองค์กร องค์กรที่มีความเป็นเลิศจะต้องมีจริยธรรม คุณธรรม จากสังคมประเทศชาติและสังคมโลก

            มาถึงบรรทัดสุดท้าย ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจ คงจะได้ประโยชน์ในการที่จะได้เสริมสร้างตน ในส่วนของจริยธรรม คุณธรรม ที่ยังขาดอยู่ หรือได้คิดทบทวนตนเองว่าตนเป็นผู้มีจริยธรรม คุณธรรม และได้ดูแลสังคมรอบตัวท่านดีแล้วหรือ ? ฝากข้อคิดไว้ “ไม่ว่าท่านจะได้เป็นผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจ เพราะเหตุใด คงไม่สำคัญมากนัก แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่เมื่อเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายแล้ว ท่านได้ทำหน้าที่ของ “ผู้บริหารที่รับผิดชอบ” เต็มที่แล้วหรือยัง ?    ท่านสามารถสอบถามเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้เขียนได้ที่ [email protected]  แล้วไว้พบกันใหม่ในบทความเรื่องต่อไป โปรดติดตามนะครับ.





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: www.hrcenter.co.th

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง