[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : ปรัชญา เวสารัชช์ ชูธง มสธ.สู่ E-University

      การบริหารงานให้ดีเป็นเรื่องที่ว่ายากแล้ว แต่การบริหารอย่างไรให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุดนั้นยากยิ่งกว่า 30 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช(มสธ.) ได้ปรับเปลี่ยนผู้บริหารมาแล้วหลายต่อหลายรุ่น และในวันนี้ผู้ที่เป็นหัวเรือใหญ่ของ มสธ. อีกท่านหนึ่ง อย่าง ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ ก็ใกล้จะหมดวาระในการบริหารงาน
     
      อีก 9 เดือนที่เหลือ มสธ.จะเป็นไปในทิศทางใด ใคร คืออธิการบดีคนต่อไป วันนี้มีคำตอบ
     
      “ช่วงเวลา 9 เดือนที่เหลือนับจากวันนี้ มีหลายสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ และอยากจะผลักดันให้เกิดผลโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ มสธ. เป็นมหาวิทยาลัยทางไกลที่มีประสิทธิภาพที่สุดในประเทศ เทียบเท่ามหาวิทยาลัยอื่นในแถบเอเชียละยุโรป ทั้งนี้เราต้องอาศัยความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี ระบบสารสนเทศที่ทันสมัย มาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในบทเรียน และจบออกมาอย่างมีคุณภาพ” นี่คือคำบอกเล่าผ่านอธิการบดีคนเก่ง ศ.ดร.ปรัชญา
     
      3 ปีที่ผ่านมากับตำแหน่งอธิการบดี มสธ. ศ.ดร.ปรัชญาได้พยายามที่จะผลักดันให้ มสธ.เป็น E-University โดยมีแนวคิดทำการเรียนการสอนให้ทันสมัย ซึ่งจากเดิมนักศึกษาต้องเรียนตามเอกสารที่ทางมหาวิทยาลัยจัดส่งไปให้ แต่ด้วยความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี มสธ.จึงพัฒนารูปแบบการเรียนไปสู่สื่ออิเล็คทรอนิกส์มากขึ้น ลักษณะนี้เรียกว่า E-Book นั้นคือ สามารถรับชมเนื้อหา ภาพ และเสียงใน CD-Rom แผ่นเดียวได้ โดยผ่านสื่อกลางอย่างคอมพิวเตอร์ วิธีนี้จะสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้เรียน และสามารถย้อนกลับไปทบทวนบทเรียนได้หลายๆรอบ
     
      “ในอนาคตข้างหน้า อาจจะมีการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ทันสมัยกว่าเดิม ซึ่งจะจัดให้อยู่ในรูปแบบของ MP3, MP5 หรือ ไอพอต เพื่อให้นักศึกษาที่ลงทะเบียนแล้ว สามารถดาวน์โหลดข้อมูลจากตัว MP3 ได้เลย และในอุปกรณ์ดังกล่าว จะมีข้อมูลตำรับตำราที่ครบชุด นักศึกษาก็ไม่ต้องเสียเงินซื้อหนังสือเล่มหนาๆ และยังเป็นการประหยัดงบประมาณในการจัดส่งเอกสารอีกด้วย “ ศ.ดร.ปรัชญา ได้เล่าถึงโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งคงเป็นหน้าที่ ที่อธิการบดีคนต่อไปจะต้องสานต่อ
     
      ไม่เพียงแต่สื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยเท่านั้น อธิการบดีคนเก่งยังบอกอีกว่า ในอนาคตข้างหน้าจะมีการจัดรูปแบบสนามสอบอิเลคทรอนิกส์ หรือที่เรียกกว่า E-Testing โดยให้นักศึกษาสามารถเข้าสอบผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ มหาวิทยาลัยจะทำการตรวจตรวจผู้ที่เข้าสอบด้วยวิธีสแกนบัตรนักศึกษา และดูรูปลักษณ์ใบหน้าผ่านทางกล้องเว็บแคม การกำหนดเวลาในการเข้าสอบนั้นระบบจะจัดการตั้งเวลาในการสอบเองและเมื่อหมดเวลาที่กำหนดระบบจะตัดไปโดยอัตโนมัติ วิธีการดังกล่าวจะช่วยให้นักศึกษาที่ไม่สะดวกในการมาสอบในมหาวิทยาลัยสามารถสอบเองได้ที่บ้าน
     
      ศ.ดร.ปรัชญา ยังเล่าอีกว่า ที่ต้องการให้มีระบบ E-Testing ก็เนื่องมาจาก ผลการเข้าสอบที่ผ่านมานักศึกษาได้ขาดสอบถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องด้วยเหตุผลต่างๆทำให้ต้องจัดสอบเสริม ดังนั้นเมื่อนักศึกษาขาดสอบชุดวิชาใด ก็ให้ลงทะเบียนใหม่ แล้วสามารถกดเลขรหัสนักศึกษา เพื่อสอบในชุดวิชานั้นๆ ภายใน 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลามาตรฐานที่กำหนด ช่วยประหยัดเวลาไม่ต้องคลอดตารางสอบ ในแต่ละช่วงเทอมนั่นเอง ซึ่งระบบการเรียนของ มสธ.ไม่เพียงแต่ตอบสนองผู้เรียนในประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงนักศึกษาที่อยู่ต่างประเทศก็สามารถลงทะเบียนเรียนผ่านระบบ E-Lerning และเข้าสอบทางอินเทอร์เน็ต ได้เช่นกัน
     
      นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยได้มีระบบการจัดส่งข้อมูลให้กับนักศึกษาผ่านทาง เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ซึ่งตอนนี้ดำเนินการได้เพียงบางเครือข่ายเท่านั้น อย่างไรก็ตามยังจะมีการขยายผลต่อไปยังเครือข่ายอื่นๆอีกด้วย ระบบการจัดส่งข้อมูลนี้ ตัวนักศึกษาเองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น โดยอธิการบดี บอกว่า เพื่อเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างมหาวิทยาลัยกับผู้เรียนอีกวิธีหนึ่ง

      ศ.ดร.ปรัชญา เล่าต่อว่า สิ่งที่น่าเป็นกังวลมากในขณะนี้คือ อีก 10 ปีข้างหน้า มสธ.จะเสียบุคคลากรด้านอาจารย์จำนวนถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งราชการ 359 อัตรา ซึ่งต้องเสียบุคคลากรไปถึง 160 อัตรา และต้องรีบคัดสรรเข้ามาอย่างเร่งด่วน แต่การที่จะหาบุคลากรเข้ามาเสริมทัพก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจาก หากทาง มสธ. ดึงตัวอาจารย์จากที่อื่นเข้ามาก็ต้องเป็นมหาวิทยาลัยในเครือข่ายเดียวกัน หากเป็นอาจารย์ที่มาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ ก็ต้องลาออกจากราชการ และมารับตำแหน่งที่ทางมหาวิทยาลัยรองรับได้ในขณะนี้ คือพนักงานของมหาวิทยาลัย ซึ่งส่วนใหญ่อาจารย์หลายท่านไม่เห็นด้วย และเชื่อว่าอาจารย์ก็อยากที่จะดำรงตำแหน่งทางราชการเหมือนที่เคยดำรงอยู่ ณ องค์กรเดิม
     
      ไม่ใช่แค่เพียงพัฒนาระบบการเรียนการสอนเท่านั้น ด้านอื่นๆที่ยังต้องสานต่อ อธิการบดี บอกต่อว่า โครงการที่ต้องทำต่อไปนี้คือ การสร้างพื้นที่ระบบการบริหาร อาทิ ศูนย์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย โดยจะจัดให้มีเจ้าหน้าที่คอยตอบปัญหาข้อซักถามประมาณ 30 คน เพื่อเพียงพอต่อผู้ที่เข้ามาใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา หรือว่าประชาชนทั่วไป
     
      ศ.ดร.ปรัชญา ยังบอกว่า ปี 2550 นี้ มสธ.ได้รับงบประมาณในการบริหารน้อยกว่าปีก่อนๆ และยังต้องนำงบประมาณนั้นไปใช้ในการก่อสร้างอาคารเรียน จึงต้องทำให้มีการจัดสรรที่เป็นสัดส่วนมากยิ่งขึ้น ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็พยายามลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น
     
      งบประมาณที่ได้มา บางส่วนทางมหาวิทยาลัยจะต้องนำไปเสียภาษี ส่งผลให้ตั้งแต่ปี 2544 จะต้องขึ้นค่าเทอมกับนักศึกษา ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเองก็ไม่อยากจะให้เป็นอย่างนั้น เพราะทราบดีว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของนักศึกษา มสธ.ส่วนใหญ่ มีรายได้ประมาณ 6,000 บาท ต่อเดือน นักศึกษาอาจมีความจำเป็นในการใช้จ่ายด้านอื่นๆ ซึ่งตรงนี้ขัดกับปณิธานของมหาวิทยาลัย ที่ต้องการให้โอกาสกับคนทุกชนชั้นได้เรียนหนังสือเพื่อยกระดับคุณภาพของประชาชนและประเทศชาติ
     
      เมื่อถามถึงตัวเก็งคนต่อไปที่จะขึ้นมาเป็นหัวเรือใหญ่ของ มสธ. อธิการบดี ตอบว่า ตอนนี้อยู่ในช่วงตั้งคณะกรรมการคัดสรรบุคคล คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกิน 6 เดือน แต่ยังบอกไม่ได้ว่าใครจะขึ้นมาเป็นอธิการบดีคนต่อไป ส่วนตัวแล้ว ต้องการคนมีความรู้ด้านการศึกษาทางไกล เข้าใจระบบไอซีที เพื่อที่จะมาบริหารต่อในทิศทางที่ตนได้วางไว้ และต้องเป็นคนซื่อสัตย์ เป็นที่พึ่งของประชาชนที่อยากเข้ามาเรียนแต่ไม่มีโอกาสได้
     
      “ผมก็จะหมดวาระในวันที่ 30 เมษายน 2551 นี้ จึงอยากได้คนที่มีความรู้ด้านการบริหารการศึกษาทางไกลมาสานต่อเจตนารมณ์”
     
      ส่วนหลังจากหมดวาระที่ต้องบริหารงานราชการแล้ว ศ.ดร.ปรัชญาบอกว่าต้องการที่จะเปิดแฟรนไชส์โรงเรียนดนตรีโดยการร่วมหุ้นกับเพื่อน และเขียนหนังสือเกี่ยวกับการกำเนิดของศาสนาพุทธ นอกจากนี้ยังอยากศึกษาธรรมะตามประสาคนปลดเกษียณทั่วไป และช่วยงานสาธารณะกุศล
     
      “ผมอยากศึกษาด้านศาสนาพุทธให้มากกว่านี้ เพราะถ้าเราศึกษาให้อย่างลึกซึ้ง จริงๆแล้ว ศาสนาพุทธเป็นอะไรที่มีคำตอบในทุกเรื่อง และสามารถให้คำตอบได้ทุกอย่าง เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง อยากรู้ว่าทำไมถึงได้มาเจริญงอกงามที่เมืองไทย แต่ ศรีลังกาเมืองที่ให้กำเนิดศาสนาพุทธ ทุกวันนี้กับไม่ได้มีศาสนาพุธเป็นศาสนาประจำชาติ ถ้าการเขียนหนังสือประสบความสำเร็จ ก็อาจจะจัดทำเป็น CD-Rom ไว้แจก เพื่อให้ง่ายต่อคนที่ต้องการศึกษา”ศ.ดร.ปรัชญาสรุป





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ 10 สิงหาคม 2550 08:43 น.

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง