[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : ร.ร.คือจุดสกัด”ครีเอทีฟ”ของเด็ก จริงหรือ?

      คำว่า “ครีเอทีฟ” หลายคนเข้าใจว่าเป็นพรสวรรค์ที่ติดตัวคนคนนั้นมาตั้งกำเนิด แต่จริงๆแล้วเป็นสิ่งที่สามารถสร้างขึ้นได้ โดยอาศัยการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมรอบด้าน ทั้งจากครอบครัว เพื่อน โรงเรียน และสิ่งรอบข้างอื่นๆอีกมากมาย แต่เมื่อมองการศึกษาไทยในปัจจุบันก็จะพบว่า ไม่เอื้ออำนวยต่อการแสดงความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ซึ่งถือเป็นจุดสกัดอันสำคัญที่จะทำให้เด็กไม่สามารถแสดงความคิดเห็นที่อยู่นอกกรอบ นอกเหนือจากการเรียนภายในหนังสือ หรือคำบอกเล่าของครูได้
     
      ภูวฤทธิ์ ภูวภิรมย์ขวัญ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลช้างเผือก ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโรงเรียนไทยเป็นตัวสกัดความคิดสร้างสรรค์ของเด็กไว้อย่างน่าสนใจในงานเสวนา Creativity: Key to success ที่จัดโดยนิตยสาร Modern Mom ว่า เป็นเรื่องจริงแต่ก็ไม่ใช่ทุกโรงเรียน ซึ่งต้องดูองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ใช่แค่โรงเรียนเพียงอย่างเดียว ครอบครัวและสังคมก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน
     
      สำหรับโรงเรียนนั้น บางโรงเรียนก็มีวิธีการสอนที่ดี เช่น สอนให้เด็กรู้จักกระบวนการคิดควบคู่ไปกับการเรียนรู้ในห้องเรียน แต่บางโรงเรียนก็จะสอนให้เด็กเป็นฝ่ายรับเพียงอย่างเดียว โดยที่ไม่สนใจว่าเด็กจะคิดอย่างไร มีกระบวนการตอบโต้กับคุณครูหรือไม่
     
      “ในปัจจุบัน มีหลายโรงเรียนที่พยายามเน้นให้เด็กมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เพื่อก่อให้เกิดกระบวนการคิดสร้างสรรค์ แต่ถ้าจะให้ตนฟันธงไปเลยว่าโรงเรียนไทยสกัดความคิดของเด็กจริงหรือ เราก็ต้องดูนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการก่อนว่าต้องการวางรากฐานการศึกษาของไทยให้เป็นไปในทิศทางใด”

      นอกจากนี้ ผอ.ภูวฤทธิ์ยังแนะวิธีบ่มเพาะให้ลูกเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ตั้งแต่เด็กไว้หลายข้อด้วยกันว่า ผู้ปกครองควรให้การกระตุ้นลูกด้วยคำถาม ซึ่งการถามไม่จำเป็นต้องได้รับคำตอบทุกคำถาม แต่แทนที่การถามลูกว่าลูกคิดอะไร พ่อแม่ควรถามคำถามที่กระตุ้นให้เกิดการสนทนาพูดคุยระหว่างพ่อแม่กับลูก เช่น ลูกคิดอย่างไรกับตัวละครที่กำลังแสดงอยู่ และถ้าเป็นเราจะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร ลูกก็จะเกิดกระบวนการคิดตามและหาวิธีแก้ไขโดยอัตโนมัติ
     
      ที่สำคัญอย่าวิพากษ์วิจารณ์หรือตำหนิติเตียน เพราะการตำหนิติเตียนจะทำให้ความภาคภูมิในตนเองของเด็กลดลง เด็กจะรู้สึกล้มเหลวหรือผิดหวังในตัวพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่ตำหนิ พ่อแม่ควรให้เขาได้ค้นหาหนทางในการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันเด็กมักจะหยุดการพูดคุยสนทนาเมื่อเด็กรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เห็นด้วยหรือไม่สนับสนุนความคิดของเขา
     
      “ผมแนะนำให้ลองถามความคิดเห็นของเขาว่าเขาคิดอย่างไรเกี่ยวกับงานหรือการบ้านที่เขาได้รับมอบหมายจากโรงเรียน บอกเด็ก ๆว่าเขาควรจะทำงานอย่างไร และถามเขาว่าเขาจะทำงานให้สำเร็จลุล่วงได้อย่างไร เสร็จแล้วผู้ปกครองควรเคารพความคิดเห็นของเด็ก เพราะจะเป็นการดีที่ยอมรับความคิดเห็นของเขา เด็กที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง จะแสดงความรู้สึกของเขาได้ สรุปก็คือไม่ควรปิดกั้นกรอบความคิดของเด็ก เมื่อเด็กมีความคิดที่ต่างออกไปควรให้เขาได้แสดงความคิดเห็นอย่างที่เด็กรู้สึก”

        นอกจากนั้น ผู้ปกครองต้องสนับสนุนให้เด็กมีแง่ที่คิดหลากหลาย ให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับความแตกต่างของเชื้อชาติและวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่ดีที่จะให้เด็กได้เข้าใจและยอมรับค่านิยมของคนอื่น
     
      อย่างไรก็ตาม จุดที่สำคัญอีกจุดหนึ่งคือ การทำงานเป็นกลุ่มเพื่อทำให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างเพื่อน เรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนอื่นและการเป็นตัวของตัวเอง
     
      “พ่อแม่ต้องรู้ว่าเด็กมีความสามารถเพียงใดและยอมรับความคิดสร้างสรรค์ของเขา สอนให้ลูกไว้วางใจ เชื่อในสัญชาติญาณและความรู้สึกของตนเองในกรณีที่ลูกของคุณประสบความสำเร็จในชีวิต เขาต้องเรียนรู้ที่จะเชื่อมั่นในการตัดสินใจของตนเอง เด็กต้องมีความเชื่อมั่นในสัญชาติญาณและความรู้สึกของตนเอง เด็กที่ไม่เชื่อมั่นในสัญชาติญาณและความรู้สึกของตนเองมักจะมีปัญหาเรื่องพฤติกรรม”
     
      “นอกจากนี้ ควรการสร้างองค์ประกอบในการเรียนรู้ เช่นของเล่น หรือการอ่านหนังสือนิทานให้ฟังให้เขาคิดตาม เด็กจะเกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาและสนุกกับการคิด” อ.ภูวฤทธิ์ อธิบาย

        ด้าน นพ.อุดม เพชรสังหาร ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพเด็กและเยาวชน สถาบันรักลูก ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ความคิดสร้างสรรค์เกิดจากการทำงานของสมองทุกส่วน เป็นความสามารถของการผลิตอะไรใหม่ๆ ใช้งานได้ เป็นทรัพย์สินที่เกิดจากการต่อยอดความรู้ สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ โดยหัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ต้องอาศัยแรงจูงใจอย่างสูง เพื่อที่จะก่อให้เกิดความเป็นอิสระและท้าทายให้เกิดความอยากลอง
     
      ทั้งนี้ ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถสร้างเองได้ จากการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมโดยรอบ ทั้งจาก บ้าน เพื่อน โรงเรียน ซึ่งอธิบายได้ในลักษณะของกระบวนการคิด (process) ลักษณะของผลผลิต (product) และลักษณะของพฤติกรรมที่แสดงออก (personality)
     
      สำหรับเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ จะสังเกตได้จากการแสดงพฤติกรรม เช่น ความอยากรู้อยากเห็น ชอบสำรวจค้นคว้าและทดลอง ชอบซักถามและมักถามคำถามแปลกๆ ช่างสงสัย และรู้สึกแปลกประหลาดใจในสิ่งที่พบเห็นเสมอ ชอบแสดงออกมากกว่าเก็บกด มีอารมณ์ขัน มีสมาธิ สนุกสนานกับการใช้ความคิดจินตนาการ สนใจสิ่งต่างๆอย่างกว้างขวาง และมีความเป็นตัวของตัวเอง
     
      “ครูและผู้ปกครองพึงใส่ใจ ร่วมกันพัฒนาเด็กโดยการให้อิสระทางการคิด ส่งเสริมบรรยากาศการคิดให้อบอุ่นปลอดภัย แล้วเราก็ได้นักสร้างสรรค์ เป็นกำลังของประเทศในอนาคต”นพ.อุดมแนะนำ
     
      ส่วน ศรัทธา ศรัทธาทิพย์ หรือครูรัก แห่งบ้านอะคาเดมี่ แฟนเทเซีย ได้เล่าถึงประสบการณ์ในวัยเด็กที่ส่งผลให้ตนประสบความสำเร็จในด้านการแสดงว่า จุดเริ่มต้นหลักเลยคือที่ครอบครัวพยายามสอนให้คิดเองและลงมือทำ ส่วนที่โรงเรียนก็มีส่วนบ้าง ทั้งเพื่อนและคุณครู บางคนเข้าใจว่า ถ้าโรงเรียนสอนให้ท่องจำแล้วเด็กจะไม่ได้รับอะไร แต่จริงๆแล้วจะทำให้เด็กมีสมาธิมากขึ้น เป็นการบริหารสมองวิธีหนึ่ง
     
      ครูรั ยังบอกอีกว่า การที่จะทำให้เด็กเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์นั้น ต้องได้รับโอกาส ไม่ถูกปิดกั้นทางความคิด ไม่อย่างนั้นเด็กจะกลายเป็นคนที่เฉื่อยชา ไม่กล้าแสดงออก เพราะผู้ใหญ่มากำหนดให้เด็กว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิด ควรให้เขาได้เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
     
      “การนำความคิดสร้างสรรค์มาปรับใช้ในการเรียน เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ ซึ่งก็ต้องมีเทคนิคในการปรับใช้ แต่ที่สำคัญที่สุดคือการค้นหาตนเอง รู้ว่าตนเองชอบสิ่งใดไม่ชอบสิ่งใด และจะทำให้พวกเขาอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ” ครูรักสรุป





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ 28 สิงหาคม 2550 09:05 น.

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง