[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : “วรากรณ์” เผย พ.ร.บ.ผ่านพิจารณาตามกฎหมาย นศ.จะเคลื่อนไหวต้านก็ไม่มีผล

      รมช.ศธ.ระบุกรณี พ.ร.บ.สจพ.ผ่านครบ 3 วาระแล้ว เป็นการผ่านกระบวนการตามกฎหมาย การที่ นศ.ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านไม่มีผลใดๆ ชี้เป็นเรื่องที่ดำเนินการมากว่า 30 ปีแล้ว ย้ำเรื่องการขึ้นค่าเล่าเรียนนั้น ใน พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยทุกฉบับใส่ข้อความป้องกันเอาไว้แล้ว แต่เลขากกอ.ยังคงแสดงความเป็นห่วงในเรื่องดังกล่าวอยู่
     
      รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณี พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผ่านการพิจารณาครบ 3 วาระแล้วตามกระบวนการทางกฎหมายว่า เมื่อปรากฏว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านการพิจารณาแล้วนั้น การที่นักศึกษามาเคลื่อนไหวคัดค้านตอนนี้จึงไม่มีผลใดๆ และเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งมาพูดกัน มีการดำเนินการมา 30 ปีแล้ว ซึ่งประเด็นที่นักศึกษากังวลว่าจะมีการขึ้นค่าเล่าเรียนจนสูงนั้น ใน พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยทุกฉบับก็ได้ใส่ข้อความป้องกันเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว และระบุด้วยว่าต้องจัดสรรทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
     
      “การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ต่างจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ สถาบันอุดมศึกษายังเป็นของรัฐ เพียงแต่มีระบบการบริหารงานที่คล่องตัวมากขึ้น และรัฐยังให้งบประมาณอุดหนุนอยู่ ซึ่งนักศึกษาควรอ่าน พ.ร.บ.ท่านการพิจารณาให้ละเอียดก่อนจะคัดค้าน และการที่รณรงค์ให้นักศึกษาทั่วโลกติดริบบิ้นดำคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้นจะทำให้ต่างชาติเขาขบขำกัน เพราะมหาวิทยาลัยต่างประเทศไม่มีมหาวิทยาลัยไหนบริหารงานอยู่ภายใต้ระบบราชการ เพราะเขาต้องการให้มีอิสรเสรีภาพในการบริหารงาน เช่น มาเลเซีย ญี่ปุ่น เป็นต้น” รมช.ศึกษาธิการกล่าว
     
      นายกฤษณพงศ์ กีรติกร เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า นักศึกษาที่ออกมาคัดค้านการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐนั้นเนื่องจากเป็นห่วงมี 2 เรื่องคือ เกรงว่าค่าเล่าเรียนจะแพง และรัฐจะไม่อุดหนุนงบฯ ซึ่งตนอยากจะบอกว่าในร่างมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่ผ่านไปแล้ว 2 ฉบับคือร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหิดล และร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือนั้น ได้มีการกำหนดไว้แล้วว่าจะประกันที่ว่าจะไม่กีดกันคนที่มีฐานะยากจนจะให้เรียนจนจบปริญญาตรีเป็นอย่างน้อย และรัฐต้องจัดสรรงบฯให้มหาวิทยาลัยมากพอ เพื่อให้ดำเนินการได้ อย่างไรก็ตามถึงตอนนี้ตนฝากให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งได้ทำความเข้าใจกับคนในมหาวิทยาลัยด้วย
     
      ส่วนเรื่องที่นักศึกษาบางกลุ่มจะให้ดึงร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่ผ่าน สนช.ไปแล้วกลับมานั้น ตนอยากให้เข้าใจว่าต้องเข้าใจร่างดังกล่าวผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติไปแล้วไม่สามารถดึงกลับมาได้





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ 4 กันยายน 2550 08:09 น.

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง