[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : “กวดวิชาเป็นเรื่องธรรมชาติ” ความในใจวิจิตร ศรีสอ้าน

      วันนี้ ไม่ว่าหันไปทางไหนเรามักจะเจอโรงเรียนกวดวิชา ผุดอยู่ตามศูนย์การค้า แหล่งชอปปิ้ง ฯลฯ เลือกเรียนได้ตามใจชอบ ซึ่งครั้งหนึ่งปัญหานี้เคยเป็นเรื่องใหญ่ที่บรรดานักการศึกษาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักถึงความผิดเพี้ยนที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ในสายตาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน “ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน” กลับมองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา
     
     
      โรงเรียนกวดวิชาทึ่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ในสายตาของ รมว.ศธ.มีความเห็นอย่างไร
     
      การกวดวิชา ผมมองว่าเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ในทุกสังคม เมื่อคนใฝ่หาความรู้ และต้องการที่จะเข้าถึงความรู้แล้วเอาความรู้ไปใช้ เพื่อสอบคัดเลือกหรืออะไรก็แล้วแต่ เขาก็มีสิทธิแสวงหาความรู้จากทุกแหล่งที่เขาจะได้ความรู้ ในระดับที่เขาต้องการ ในสังคมไทยสถานศึกษาที่ให้การศึกษาแก่เด็ก ยังมีคุณภาพเลื่อมล้ำลักลั่นกันอยู่มาก และเมื่อใดก็ตามที่มีการแข่งขันทุกคนก็ต้องเกรงกลัว ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันเข้าทำงาน ชิงทุนการศึกษา เรียนต่อมหาวิทยาลัย ในขบวนการเตรียมตัวก็เป็นสิทธิของบุคคลว่าเขาจะใช้ช่องทางการเตรียมตัวอย่างไร ที่จะทำให้เขาประสบความสำเร็จ
     
      บางคนใช้ช่องทางผ่านโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่ได้มีรูปแบบแค่โรงเรียนกวดวิชาเท่านั้น คนที่มีฐานะดีเขาจ้างครูไปสอนลูกเขาถึงบ้าน บางคนส่งลูกไปเรียนภาษาอังกฤษภาคฤดูร้อนในประเทศเจ้าของภาษา อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำอย่างนี้ได้นที่สุดคนส่วนใหญ่เขาก็ต้องพึ่งสถานศึกษาที่จะช่วยให้เขาเข้าถึงความรู้และทำให้เขาพร้อมที่จะลงสู่สนามแข่งขัน
     
      โรงเรียนกวดวิชาจะมีจำนวนมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับสังคมนั้น ได้มีการจัดการศึกษาให้กับเยาวชนโดยอาศัยสถานศึกษาปกติได้อย่างสมบูรณ์เพียงพอรึยัง ต้องยอมรับว่าปัญหาความเลื่อมล้ำลักลั่นด้านคุณภาพของบ้านเรา โดยเฉพาะระดับพื้นฐานยังมีอยู่ เมื่อมีอยู่ คนจะใช้สถาบันที่เรียนอยู่เพียงอย่างเดียวมองว่าอาจไม่พอ เหมือนกับคนที่จะต้องใช้ภาษาอังกฤษเพื่อไปเรียนต่อต่างประเทศ เขาก็ต้องเข้ารับการศึกษาเพิ่มเติม TOEFL ผมมองเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องปกติ
     
      จริงๆ ผมมองโรงเรียนกวดวิชา ในภาพกลางๆ ไม่ได้มองว่าโรงเรียนกวดวิชาเป็นภาพลบ แต่มองว่าเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงการตอบสนองของความต้องการของกระทรวง ที่รัฐบาลหรือเอกชนที่จัดอยู่ในขณะนี้ยังไม่เพียงพอ หากจัดให้ดีและเพียงพอแล้ว นักเรียนก็คงไม่ไปใฝ่หาอะไรเพิ่มเติม เพราะเขาต้องเสียเวลาเพิ่มขึ้น เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แทนที่จะเอาเวลาไปพักผ่อน หาคุณภาพชีวิต
     
      สำหรับการเลือก ก็คงต้องเลือกโรงเรียนที่ไม่เอาเปรียบประชาชน ไม่ทำในเชิงพาณิชย์จนเป็นที่เดือดร้อน และไม่เกิดภาวการณ์หลอกลวงคือ คนไปรับบริการได้รับประโยชน์ ความจริงหน้าที่ของกระทรวงจะต้องสกรีนโรงเรียนกวดวิชา ให้จดทะเบียนตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคเหมือนกับการบริโภคสินค้าอื่นๆ
     
      -กรณีที่โรงเรียนกวดวิชาจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะสอนผ่านโทรทัศน์เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร
     
      ไม่เป็นไร หากวิดีโอ หรือสื่อการเรียนการสอนนั้นมีคุณภาพ ทำให้คนเกิดการเรียนรู้ อย่างม.สุโขทัยธรรมาธิราช ก็สอนทางไกล คนจบปีหนึ่งเป็นหมื่นคน มีผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านไปเรียน เขาเรียนได้จากสิ่งเหล่านั้น แล้วโรงเรียนกวดวิชาทำสื่อที่ดี ที่หาไม่ได้จากแหล่งอื่นๆ ตรงนี้เราถือว่าเป็นการกวดวิชาอย่างหนึ่ง ซึ่งคนเขาคิดว่าวิธีนี้มีประโยชน์ต่อเขา วันนี้ระบบการสอนทางไกลก็ใช้อยู่แล้วในระบบปกติ หากเขามีสื่อที่ดีก็ไม่จำเป็นเสมอไปที่จะต้องสอนสด เขาอาจจะผลิตสื่อที่ดีแล้วจดลิขสิทธิ์ ซึ่งคนอื่นไม่มี การเข้าถึงสื่อเหล่านี้เป็นการเพิ่มความรู้เหมือนกัน
     
      แต่ที่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในระยะหลัง เพราะมีโรงเรียนกวดวิชาบางแห่งที่ไม่ควรทำบางอย่าง เช่น ไปเฉลยข้อสอบเสมือนหนึ่งว่า กวดวิชาเพื่อสอบ และทำเสมือนหนึ่งว่ารู้ข้อสอบ พอข้อสอบรั่วขึ้นมาก็เกิดปัญหา ใครเป็นคนทำรั่ว หรือคนที่มีอำนาจหน้าที่ในที่จะต้องดูแลความเป็นธรรม เกิดข้อสงสัยว่าโรงเรียนแห่งนั้นเข้าถึงข้อสอบทำให้ได้เปรียบโรงเรียนอื่นหรือเปล่า ตรงนี้เป็นเรื่องที่โรงเรียนกวดวิชาไป หากเขาทำเพื่อมุ่งกวดวิชา เสริมความรู้ มุ่งที่จะตอบสนองความต้องการอย่างมีคุณภาพ ผมก็ไม่เห็นจะมีปัญหาแต่อย่างใด
     
      -ปัจจุบันมีโรงเรียนของรัฐและเอกชนเชิญครูโรงเรียนกวดวิชาไปสอนเป็นรายวิชาและเก็บเงินเป็นรายหัวนักเรียน ?
     
      ถ้าโรงเรียนคิดว่าทำอย่างนี้แล้วคุณภาพของนักเรียนดีขึ้น และการเก็บเงินไม่ใช่การค้า มันก็เหมือนบริการชนิดหนึ่ง แทนที่เด็กจะต้องเดินทางไปสยามสแควร์ หรือสถานที่ที่ไม่ปลอดภัย จัดขึ้นในโรงเรียนปลอดภัยกว่า ผมคิดว่าไม่ได้เสียหาย
     
      -จะเป็นการชี้ช่องทางให้โรงเรียนมาใช้วิธีนี้กันมากขึ้นหรือไม่
     
      ไม่ได้ชี้ช่องทางให้โรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียนเขาจะต้องมีวินิจฉัยว่าเหมาะสมแล้ว เหมือนเขาสอนพิเศษคอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษ ซึ่งขณะนี้ทำอยู่แล้ว โดยระเบียบสามารถเก็บเงินเพิ่มได้ แต่ต้องเป็นความสมัครใจ จะบังคับใครไม่ได้
     
      อย่างไรก็ดี ข้อหนึ่งที่สังคมต้องยอมรับว่าเราขาดครู โดยเฉพาะสาขาขาดแคลน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ อังกฤษ ดังนั้นโรงเรียนจะเสริมด้วยการเชิญครูโรงเรียนกวดวิชาเก่งๆ มาสอนก็ไม่เสียหายแต่อย่างใด หากมีปัญหาเกิดขึ้นโรงเรียนจะต้องรับผิดชอบ ก็เหมือนเชิญวิทยากรมาโรงเรียนก็ต้องรับผิดชอบ ครูประจำก็ต้องทำหน้าที่ หากไม่ทำหน้าที่ของตัวเองมัวแต่ไปขายประกัน อย่างนี้ก็ต้องจัดการ ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งใช้วิธีเชิญอาจารย์ข้างนอกมาสอน และเป็นผลดีด้วยซ้ำ
     
      อะไรก็ตามที่ทำให้เด็กได้ประโยชน์ และสิ่งนั้นโรงเรียนให้ได้ไม่เต็มที่ จนต้องพึ่งคนนอก ก็เป็นหลักธรรมดา ยิ่งไปห้ามเด็กจะเสียผลประโยชน์ ถ้าห้ามเด็กก็จะต้องวิ่งไปข้างนอก เรียนซะในโรงเรียน อยู่ในขอบเขตแล้วเราสามารถควบคุมได้ ดูแลได้ไม่ดีกว่าเหรอ





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ 10 กันยายน 2550 08:53 น.

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง