[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : จี้รัฐบาลทำ Blue Print กำหนดเป้าหมายพัฒนาเด็กพิเศษ

    วงสัมมนาการจัดการศึกษาเด็กอัจฉริยะเผย ประเทศไทยขาดการประสานงานระหว่างองค์กรในการจัดการศึกษาให้เด็กกลุ่มนี้ และบุคลากรยังขาดความเข้าใจ รวมถึงไม่มีเครื่องมือในการเสาะหาเด็กพิเศษ จึงทำให้เด็กปัญญาเลิศถูกทำลายลงทุกวัน จี้รัฐบาลทำ Blue Print กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาเด็กกลุ่มนี้ให้ชัดเจน และเร่งสร้างความเข้าใจให้กับครู
     
      เมื่อวันที่ 10 กันยายน สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดการประชุมสัมมนา เรื่อง “แนวทางการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษ : บทเรียนจากต่างประเทศ” โดย รศ.เฉลียวศรี พิบูลชล คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นผู้เสนอผลงานวิจัย เรื่อง“แนวทางการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษ : บทเรียนจากต่างประเทศ” โดยทำการศึกษาการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ 10 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออเตรเลีย เยอรมนี เกาหลี ไต้หวัน จีน สิงคโปร์ เวียดนามและไทย ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้แบ่งประเทศทั้ง 10 ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเสาะหาอัจฉริยะ โดยการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษในกลุ่มนี้ จะต่อต้านการสอนในระบบโรงเรียน เน้นความสำคัญเรื่องปัจเจกชน และความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก และการสร้างองค์วามรู้ด้านการเป็นอัจฉริยะ รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือวัดความเป็นอัจฉริยะด้วย
     
      รศ.เฉลียวศรี กล่าวอีกว่า กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มปฏิรูปการศึกษา ที่มุ่งเน้นพัฒนาเด็กทุกคนเต็มตามศักยภาพที่มีอยู่ เน้นการจัดการศึกษาโดยคำนึงถึงความสามารถของผู้เรียนแต่ละคน และเน้นการเรียนร่วมกับโรงเรียนในระบบ ส่วนกลุ่มสร้างชาติ จะเน้นการจัดการศึกษาเพื่อสร้างคนในการพัฒนาชาติ ในงบประมาณที่จำกัด เน้นการจัดการศึกษา เพื่อผลิตผู้นำมากกว่าความเสมอภาคทางการศึกษา โดยเน้นเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและภาษา ทั้งนี้ ในการจัดการศึกษาให้กับเด็กพิเศษ บางประเทศจะมี พ.ร.บ.การศึกษาสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ขณะที่ประเทศที่ไม่มี พ.ร.บ.ก็จะมีการระบุไว้ในการประชุมแห่งชาติ เช่น ประเทศจีน เป็นต้น หรือบางประเทศจะใช้วิธีการกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทดแทน ส่วนงบประมาณนั้น มีที่มาจากรัฐบาลกลาง ท้องถิ่น ผู้ปกครอง ภาคเอกชน และสมาคมวิชาชีพ รวมถึงมูลนิธิที่ไม่แสวงหากำไร
     
      “การเสาะแสวงหาเด็กพิเศษนั้น มีทั้งประเทศที่ใช้แบบทดสอบในการค้นหาส่วนประเทศที่ไม่ใช้แบบทดสอบก็จะใช้การจัดโปรแกรมทางวิชาการ การประกวดแข่งขัน หรือการจัดค่ายทดสอบทักษะ เพื่อค้นหาเด็กอัจฉริยะ นอกจากนี้ก็ใช้วิธีการเสนอชื่อโดยครู ผู้ปกครอง และผู้ใกล้ชิด ซึ่งวิธีการเหล่านี้ใช้ในการค้นหาเด็กพิเศษทุกประเทศ”
     
      ส่วนข้อเสนอแนะสำหรับการจัดการศึกษาให้เด็กพิเศษในประเทศไทยนั้น รศ.เฉลียวศรี เสนอว่า ในด้านนโยบายประเทศไทยต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าต้องการสร้างเด็กขึ้นมาเพื่อสร้างประเทศอย่างไร และนโยบายด้านนี้ก็ต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน นอกจากนี้ต้องนำสามารถเอากฎหมายไปใช้ปฏิบัติให้ได้ผลจริงด้วย อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่สุดของประเทศไทยในการจัดการศึกษาให้กับเด็กพิเศษคือ หน่วยงานต่างๆ ต่างคนต่างทำงาน โดยไม่มีการประสานงานกันระหว่างองค์กร ซึ่งต้องปรับปรุงเรื่องดังกล่าวให้ได้
     
      ผศ.อุษณีย์ อนุรุทวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวในเวทีสัมมนาเรื่องดังกล่าวว่า สำหรับประเทศไทยนั้น เด็กปัญญาเลิศจำนวนมากถูกตราหน้าว่าเป็นเด็กปัญญาอ่อน ทำให้เด็กกลุ่มนี้ถูกทำลายไปมาก เพราะบุคลากรของเรายังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว ซึ่งในเรื่องกฎหมายนั้น ต้องมีกระบวนการที่จะทำให้กฎหมายสามารถนำมาใช้ได้ ซึ่งจะทำให้ครูมีประสิทธิภาพในการคัดกรองเด็กมากขึ้น ไม่ใช่จะชี้ว่าเด็กคนไหนเป็นปัญหาอ่อนก็ได้ นอกจากนี้ควรมีการออกกฎกระทรวงให้ตอบสนองต่อ พ.ร.บ.การจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษด้วย ที่สำคัญผู้ที่จะเข้ามาบริหารงานการศึกษาด้านนี้จะต้องมีความรู้ในเรื่องนี้ด้วย
     
      “เด็กปัญญาเลิศจะมีความต่างในเรียนมาก บางคนมีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์อยู่ในระดับปริญญา แต่ความรู้ด้านภาษาอาจจะอยู่แค่ระดับอนุบาล ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดการศึกษาให้กับเด็กกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ซึ่งประเทศไทยจะต้องมี Blue Print เพื่อวางเป้าหมายในเรื่องนี้ให้ชัดเจน และแต่ละหน่วยงานต้องมีการประสานงานระหว่างกันให้ดี ที่สำคัญต้องสร้างความเข้าใจให้ผู้บริหารและครูในเรื่องการจัดการศึกษาให้เด็กพิเศษ ไม่เพียงเท่านั้นประเทศไทยยังถือว่าเครื่องมือในการเสาะหาเด็กพิเศษยังไม่มีความพร้อม จึงต้องมีการพัฒนาเครื่องมือ ตลอดจนการจัดเวทีประกวดในทักษะในด้านต่างๆ เพื่อค้นหาแววของเด็กด้วย และต้องจัดให้มีการเทียบโอนการศึกษา หากไม่เร่งดำเนินการเรื่องเหล่านี้ เราก็จะสูญเสียเด็กปัญญาเลิศที่เกิดขึ้นไปทุกวัน”
     
      ด้าน ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ คณะกรรมการศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติ กล่าวว่า หลายประเทศนำเอาระบบการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษไปเรียนร่วมกับระบบโรงเรียน เพื่อให้ระบบการศึกษาดังกล่าว ช่วยพัฒนาการศึกษาของประเทศ และมีแนวโน้มว่าหลายๆ ประเทศจะใช้วิธีการดังกล่าว ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่จะทำหน้าที่อย่างครบวงจร ในการส่งต่อเด็กพิเศษเข้าสู่ระบบการศึกษา
     
      ศ.ดร.ศักดา ศิริพันธุ์ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการำพัฒนาเด็กและเยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษ สภานิติบัญญัติ กล่าวว่า ประเทศไทยต้องมีการพัฒนาเด็กใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านอาชีวศึกษา และด้านภาษา ดนตรี กีฬา เพื่อพัฒนาประเทศให้ทันกับประเทศอื่นๆ





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ 11 กันยายน 2550 07:01 น.

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง