[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : ไทย-มาเลย์ ร่วมมือทางการศึกษา ก้าวย่างเพื่อความมั่นคงของภูมิภาค

“กระทรวงศึกษาธิการประเทศมาเลเซียยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับประเทศไทยในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านศึกษา เพื่อร่วมกันพัฒนาเด็กให้เป็นพลเมืองดีมีคุณภาพต่อไป...ยังไม่มีรัฐบาลชุดไหนที่ผ่านมา ที่ให้ความสำคัญและจริงใจที่จะร่วมมือด้านการศึกษาเท่ากับครั้งนี้ หวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาของทั้งสองประเทศต่อไป และจะส่งผลให้เกิดความสงบสุขในภูมิภาคนี้อย่างแท้จริง” คำกล่าวตอนหนึ่งของ H.E.Dato’ Sri Hishammuddin Tun Hussein รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซีย เมื่อครั้งที่ให้การต้อนรับคณะผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการไทยไปศึกษาดูงานด้านอิสลามศึกษา เมื่อเร็วๆนี้ โดยมี ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหัวหน้าคณะ

อิสลามศึกษาได้เข้าสู่ระบบการศึกษาของประเทศมาเลเซียมากว่า 40 ปีแล้ว (เมื่อ ค.ศ. 1961) แต่รัฐบาลเพิ่งจะสนับสนุนให้มีการจัดการเรียนสอนสอนอย่างทั่วถึงเมื่อปี 2004 นี่เอง และได้นำระบบ j-QAF มาใช้ในปี 2005 โดยรัฐบาลกลางเป็นผู้กำหนดและจัดทำหลักสูตร เอกสารประกอบหลักสูตร แผนการสอน หนังสือเรียน รวมถึงสื่อการเรียนการสอนทุกประเภท ดังนั้นโรงเรียนทั่วประเทศจึงต้องใช้เหมือนกัน โดยกำหนดให้ระดับประถมศึกษาจัดสอนอิสลามศึกษาสัปดาห์ละ 6 คาบ ๆ ละ 30 นาที ส่วนระดับมัธยมศึกษาให้จัดสอนอิสลามศึกษาสัปดาห์ละ 6 คาบ ๆ ละ 40 นาที สำหรับโรงเรียนที่ต้องการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาให้มีความเข้มข้นมากขึ้นก็สามารถจัดสอนเป็นรายวิชาเพิ่มเติมได้

ประเทศมาเลเซียได้กำหนดให้โรงเรียนต้องจัดสอนอิสลามศึกษา ถ้าหากมีนักเรียนมุสลิม 5 คนขึ้นไป ส่วนนักเรียนที่นับถือศาสนาอื่นต้องเรียนศาสนาตามที่ตนนับถือ สำหรับนักเรียนที่นับถือศาสนาอื่นที่สนใจจะเรียนอิสลามศึกษาจะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป แต่หากอายุต่ำกว่า 18 ปี ประสงค์จะเรียนอิสลามศึกษาต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ปกครองเป็นลายลักษณ์อักษรจึงจะสามารถเรียนอิสลามศึกษาได้

j-QAF เป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนอิสลามที่ประเทศมาเลเซียภาคภูมิใจมาก เนื่องจากเป็นประเทศแรกที่นำระบบนี้มาใช้และเป็นระบบที่ช่วยให้การจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก j-QAF ย่อมาจาก j- ยาวี Q-อัล-กุรฺอาน A-อาหรับ F-ฟัรฎูอีนหรือวิชาที่ว่าด้วยการปฏิบัติตนของมุสลิมนั่นเอง

กว่าจะมาถึงวันที่ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding ; MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2550 ณ สำนักนายกรัฐมนตรี กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมีนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศร่วมเป็นสักขีพยาน ก่อนหน้านี้ได้มีการเจรจาตกลงร่วมกันแลกเปลี่ยนศึกษาดูงานด้านต่าง ๆ มาหลายครั้งแล้ว

การตกลงความร่วมมือด้านการศึกษาครั้งนี้นับเป็นครั้งสำคัญยิ่ง เพราะถือเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล โดยมอบให้กระทรวงศึกษาธิการของทั้งสองฝ่ายเป็นผู้ร่วมลงนาม

MOU ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 5 ปี มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ การกำหนดกรอบการดำเนินความร่วมมือด้านการศึกษาทุกระดับการศึกษา ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา โดยจะมีการสานต่อความร่วมมือระดับทวิภาคีที่ดำเนินอยู่แล้ว และร่วมผลักดันโครงการหรือกิจกรรมความร่วมมือที่จะดำเนินการในอนาคตให้มีผลปฏิบัติเป็นรูปธรรมต่อไป

สาขาความร่วมมือที่กำหนดไว้ใน MOU ครอบคลุมเรื่องต่างๆ คือ การเชื่อมโยงเครือข่ายสถาบันการศึกษาและโรงเรียน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ การศึกษาด้านศาสนา การศึกษาสำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษ การศึกษาสำหรับผู้ที่มีความสามารถพิเศษ การพัฒนาหลักสูตร การบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน และการเทียบโอนการศึกษา รวมถึงความร่วมมือด้านอื่น ๆ ที่อาจจะตกลงร่วมกันต่อไปอีกด้วย

สำหรับรูปแบบความร่วมมือนั้นจะผ่านทางการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้นำทางการศึกษา เจ้าหน้าที่ระดับสูง ผู้เชี่ยวชาญ คณาจารย์ ผู้บริหารการศึกษา และนักเรียน รวมถึงการแลกเปลี่ยนด้านวัสดุ อุปกรณ์ สิ่งพิมพ์ ข้อมูลข่าวสาร การจัดประชุม การสัมมนาวิชาการ การจัดนิทรรศการ การศึกษาดูงาน การจัดแข่งขันทักษะวิชาการ ค่ายเยาวชน การให้ทุนการศึกษา เป็นต้น

กิจกรรมแรกที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คือ การจัดค่ายลูกเสือเยาวชนไทย – มาเลเซีย ณ หาดสมิหรา จังหวัดสงขลา ซึ่งมีลูกเสือฝ่ายมาเลเซียมาร่วม 500 คน ลูกเสือไทย 1,500 คน นับเป็นกิจกรรมร่วมระหว่างสองประเทศที่จะจัดให้มีขึ้นทุกปี โดยสลับกันเป็นเจ้าภาพ

ส่วนอีกกิจกรรมที่เพิ่งผ่านไปเมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา คือ โครงการอบรมหลักสูตรการผลิตสื่อมัลติมีเดียสำหรับการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษา ซึ่งประเทศมาเลเซียได้จัดหลักสูตรนี้ขึ้นเพื่อจัดอบรมให้แก่ครูผู้สอนอิสลามศึกษาจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และสงขลา จำนวน 100 คน ระยะเวลาการอบรม 2 สัปดาห์ โดยประเทศมาเลเซียเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด หลังจากนั้นครูผู้สอนจะนำความรู้กลับมาขยายผลต่อไป

เหล่านี้เป็นกิจกรรมนำร่องที่เกิดขึ้นจากการตกลงความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทย – มาเลเซีย และอีกหลาย ๆ กิจกรรมร่วมซึ่งคงจะมีให้เห็นเป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาหลักสูตร การให้ทุนหรือแลกเปลี่ยนนักเรียน นักศึกษา บุคลากร การศึกษาดูงานด้านต่าง ๆ เป็นต้น

การผลักดันให้การศึกษาทั้งสองประเทศมีความเข้มแข็ง มีคุณภาพเท่าเทียม และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันนั้น ทุกฝ่ายต้องมุ่งมั่นตั้งใจอย่างจริงจังและจริงใจโดยไม่มีสิ่งแอบแฝงใด ๆ มุ่งแสวงหาจุดเด่นเพื่อเสริมเติมเต็มจุดอ่อนให้เหมาะสม สำหรับประเทศไทยแล้ว ต้องยอมรับว่าภาพความสำเร็จของประเทศมาเลเซียหลายเรื่องนั้น เป็นสิ่งที่เราน่าจะได้หยิบยกนำมาพิจารณาเพื่อขยายผลต่อเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาการศึกษาของชาติ โดยเฉพาะระบบ j-QAF หรือ ระบบการพัฒนาครู เป็นต้น





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: เดลินิวส์ ฉบับที่ 21153 [หน้าที่ 27 ] ประจำวันที่ 12 กันยายน 2550

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง