[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : ตะลุยมาเลย์ ''สร้างต้นแบบครูอิสลาม 5 จว.ใต้'' ใช้ไอทีสอนศาสนา

ระหว่างวันที่ 5-7 กันยายนที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้นำคณะสื่อมวลชน เดินทางไปร่วมสังเกตการณ์ ''โครงการอบรมพัฒนาครูสอนศาสนาอิสลามใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้'' ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งการอบรมดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่นายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาของมาเลเซียได้ลงนามความร่วมมือทางด้านการศึกษาร่วมกันไปเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2550 จึงนับว่าเป็นโครงการความร่วมมือด้านการศึกษาล่าสุดของสองประเทศ

โครงการอบรมพัฒนาครูฯครั้งนี้จัดระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม-7 กันยายนที่ผ่านมา มีครูสอนศาสนาอิสลามจำนวน 96 คน จากโรงเรียนระดับประถมศึกษา-มัธยมศึกษา สังกัด สพฐ.และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล และสงขลา เข้าอบรม ซึ่งกระทรวงศึกษาประเทศมาเลเซียให้ความสำคัญโครงการนี้มากโดยได้แบ่งครูออกเป็น 5 กลุ่ม เข้าอบรมและพักที่สถาบันฝึกหัดครูในรัฐสลังงอร์, มะละกา, สเรมบัน, ยะโฮร์ และยะโฮร์บาห์รู แต่ละแห่งล้วนแล้วเป็นสถาบันฝึกหัดครูที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ

สพฐ.ได้นำคณะสื่อมวลชน เข้าสังเกตการณ์การอบรมที่สถาบันฝึกหัดครู Raja Melewar Seremban รัฐสเรมบัน และสถาบันฝึกหัดครู Perguruan Islam Selangor รัฐสลังงอร์ มีครูอบรมอยู่ประมาณ 40 คน ซึ่งเนื้อหาการอบรมจะเน้นหนักในการพัฒนาครูไทยให้มีความรู้ความสามารถเพื่อการพัฒนาทักษะการใช้คอมพิวเตอร์เบื้องต้น การใช้โปรแกรม Microsoft Word Microsoft Excel Microsoft power Point และการฝึกปฏิบัติการผลิตสื่อและการบูรณาการเรียนการสอนด้านศาสนาอิสลามศึกษาในรูปแบบสื่อมัลติมีเดีย

ครูที่เข้ารับการอบรมหลายคนต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าคุ้มค่ามากที่เข้าอบรมเพราะได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์มากแม้บางเรื่องอาจจะเป็นสิ่งที่คนทั่วไปมองว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนเรียนรู้กันได้อยู่แล้วและไม่จำเป็นต้องเข้ารับการอบรม แต่เป็นเพราะสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้บวกกับการขาดแคลนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทำให้ครูและนักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ยาก

นายสาเหาะ ลาเตะ อายุ 47 ปี ครูสอนศาสนาโรงเรียนบ้านมะปริง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี มองว่าการสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังสอนโดยเขียนบนกระดานดำ ให้นักเรียนอ่านตามหนังสือจึงทำให้เด็กเบื่อหน่ายในการเรียนได้ง่าย แต่หากนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยสอนจะทำให้เด็กมีความสนใจมากขึ้น ซึ่งการอบรมครั้งนี้คุ้มค่าเพราะได้รับความรู้มากอย่างการทำสื่อมัลติมีเดียภาพกราฟิคประกอบการเรียนการสอนที่ไม่เคยเรียนมาก่อนเลยจึงตั้งใจว่าอบรมเสร็จจะนำไปทำแบบเรียนสอนและเชื่อว่าจะทำให้การเรียนวิชาอิสลามศึกษามีความน่าสนใจไม่น่าเบื่อและอยากให้มีโครงการอบรมแบบนี้อีก

''ผมคิดว่าเด็กไทยมุสลิมมีความรู้ ความสามารถไม่แพ้เด็กมุสลิมทั่วโลกเลย อย่างเวลาที่มีทุนรับเด็กทั่วโลกไปเรียนด้านศาสนาอิสลามเด็กไทยก็สอบได้ทุนกันมาก แต่สิ่งที่เราจะแพ้เด็กมุสลิมชาติอื่นคือโอกาสทางการศึกษา การได้รับการสนับสนุนสื่อ อุปกรณ์การเรียนการสอนที่พร้อมโดยเฉพาะคอมพิวเตอร์เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการเรียนการสอนได้มาก อย่างมาเลเซียเองได้ส่งเสริมการเรียนคอมพิวเตอร์กับเด็กค่อนข้างมากและจะมีคอมพิวเตอร์ที่พร้อมให้กับโรงเรียนทำให้การเรียนการสอนทันสมัยโดยเฉพาะวิชาด้านอิสลามศึกษา'' นายสาเหาะกล่าวเพิ่มเติม

เช่นเดียวกับ น.ส.บัลกีซ สามะเต๊ะ อายุ 30 ปี ครูสอนศาสนาโรงเรียนคอยรียะห์วิทยมูลนิธิ อ.เบตง จ.ยะลา บอกว่า อบรมคราวนี้ได้ความรู้มากจากเดิมที่ทำอะไรไม่ได้เลย ตอนนี้ทำได้หมด อย่างการทำสื่อการสอนแบบมัลติมีเดีย ตั้งใจว่าจะนำความรู้ที่ได้ในครั้งนี้ไปทำแบบเรียนสอนอิสลามให้น่าสนใจ ตั้งใจว่าจะทำเป็นแผ่นใสใส่โปรเจ็คเตอร์สอนในห้องเรียนและต่อไปจะพัฒนาการเรียนการสอนใส่ในคอมพิวเตอร์ให้เด็กได้มานั่งเรียน พวกเด็กๆ จะได้ไม่รู้สึกเบื่อ

นายฮาซัน บื่อราเฮง อายุ 36 ปี ครูสอนศาสนาโรงเรียนสายบุรีแจ้งประชาคาม อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เล่าว่า ''การอบรมครั้งนี้แม้จะมีเวลาน้อยเพราะตามหลักสูตรการอบรมของมาเลเซียต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ ดังนั้น จึงทำให้เจ้าหน้าที่มาเลเซียที่มาอบรมต่างก็ทุ่มเทอัดแน่นวิชาความรู้ให้มากมายจะสอนตั้งแต่ช่วงเช้าไปถึงเย็น บางวันก็สอนกันไปจนดึกทำให้รู้สึกประทับใจกับการดูแลเอาใจใสของเจ้าหน้าที่มาเลเซียเป็นอย่างมาก ซึ่งนอกจากการอบรมในห้องเรียนแล้ว ยังมีการจัดพาครูที่อบรมไปทัศนศึกษาในสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของรัฐด้วย''

''ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่เราได้รับนอกเหนือจากความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะนำไปพัฒนาการเรียนการสอนแล้ว คือความสัมพันธ์ที่ดีของประเทศไทยและมาเลเซีย จากการที่พวกเรามาใช้ชีวิตช่วงอบรมทางเจ้าหน้าที่มาเลเซียที่มาอบรมให้ก็จะแสดงความห่วงใยสอบถามชีวิตความเป็นอยู่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำให้ผมรู้สึกว่าแม้จะอยู่คนละประเทศเขาก็ยังห่วงใยพวกเราแค่นี้ก็รู้สึกดีแล้ว'' นายฮาซันกล่าวทิ้งท้าย

หลังจบคอร์สการอบรมทางมาเลเซียได้จัดพิธีการมอบประกาศนียบัตรแก่ครูสอนศาสนาอิสลามทั้ง 96 คน อย่างน่าภาคภูมิใจ ที่สถาบันฝึกหัดครู Bahaha-bahasa Antarabangsa กรุงกัวลาลัมเปอร์ มี ดะโต๊ะอลิมมุสดิลห์ บินห์ฮาจิหมัดห์ ดัม เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษามาเลเซีย มามอบประกาศนียบัตรให้ ส่วนฝ่ายไทยมีนายอดินันท์ ปากบารา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลา เขต 1 ในฐานะที่เป็นผู้แทนจาก สพฐ.ร่วมในพิธีนี้ด้วย

ภายหลังพิธีเสร็จสิ้น ดะโต๊ะอลิมมุสดิลห์ บินห์ฮาจิหมัดห์ ดัม กล่าวว่า ไทยและมาเลเซียมีความสัมพันธ์ที่ดีกันมาช้านานโดยความร่วมมือด้านการศึกษาเริ่มขึ้นในปี 2530 ที่มีการแลกเปลี่ยนนักเรียนมาเรียนที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ซึ่งโครงการอบรมพัฒนาครูสอนศาสนาอิสลามของไทยครั้งนี้เป็นการถ่ายทอดความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนด้านศาสนาอิสลามและเชื่อว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของสองประเทศด้วย นอกจากโครงการดังกล่าวแล้วก็จะมีโครงการความร่วมมือด้านการศึกษากับไทยตามมาอีก เช่น ในเร็วๆ นี้จะส่งครูมาเลเซียไปรับการอบรมดูงานด้านการจัดการศึกษาพิเศษสำหรับผู้พิการ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

งานนี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของสองประเทศ หลังจากจบการอบรมคราวนี้แล้วเป็นหน้าที่ของ ศธ.จะต้องรีบหาอุปกรณ์ คอมพิวเตอร์ให้โรงเรียนที่ส่งครูเข้าอบรมเพราะหลายแห่งยังขาดแคลนอยู่ ....





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: มติชนรายวัน ฉบับที่ 10777 [หน้าที่ 27 ] ประจำวันที่ 12 กันยายน 2550

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง