[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : แนะครูทำ บัญชีคำอ่าน ช่วยเด็กไทยอ่านออกเขียนได้11

เปิดวิสัยทัศน์-แนะครูทำ'บัญชีคำอ่าน'ช่วยเด็กไทยอ่านออกเขียนได้
Source - เว็บไซต์คมชัดลึก (Th)

          ยุค2551 น่าเศร้าใจ ! ยังมีเด็กไทยอ่านหนังสือไม่ได้กว่า7.5 หมื่นคน กลายเป็นปัญหาหนักอก ที่กระทรวงศึกษาธิการเล็งจะใช้เงินงบประมาณแผ่นดินจำนวน 862 ล้านบาท ทุ่มลงไปเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ด้วยความห่วงใยคุณภาพการศึกษาชาติ
          'คม ชัด ลึก' ขอน้อมนำประสบการณ์ชีวิต'อาจารย์สมชัย วุฑฒิปรีชา' อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการอดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มาช่วยคลี่ปมปัญหานี้ ได้ง่ายเพียงแค่ครูให้เด็กทำบัญชีคำอ่าน จะพบกับความมหัศจรรย์ในตัวเด็กทันที...
          ไม่น่าเชื่อว่าวันนี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยังต้องทำสงครามกับความ 'ไม่รู้หนังสือ' ของคนไทย เหมือนภาพแห่งความหลัง เมื่อวันวานได้หวนกลับมาสู่สังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง ทั้งที่โลกใบนี้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลแล้วก็ตาม
          'สมัยผมเป็นศึกษานิเทศก์จังหวัดขอนแก่น ผมแนะนำให้คุณครูทำบัญชีคำที่เด็กอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ ปรากฏว่าคุณครูทำแล้วได้ผลดี เด็กมีพัฒนาการดีขึ้นมาก สามารถอ่านออกเขียนได้ ในที่สุดคุณครูคนนั้นได้รับเชิญจากคณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไปเป็นอาจารย์สอนนักศึกษามหาวิทยาลัย เพียงเพราะมีเทคนิคการสอนภาษาไทยแล้วเด็กนำไปใช้ได้จริง' อาจารย์สมชัยวุฑฒิปรีชา ย้อนภาพเมื่อในอดีต
          กลวิธีการทำบัญีคำอ่านนั้น ครูควรมีบัญชีคำที่เด็กอ่านได้ มีบัญชีคำที่เด็กอ่านไม่ออก ครูต้องรู้ปัญหาของเด็ก รู้ว่าเด็กอ่อนภาษาไทย อ่านไม่ได้คำไหนบ้าง ฉะนั้นทุกเย็นก่อนเลิกเรียนกลับบ้าน ครูควรให้เด็กทำบัญชีคำอ่านเป็นการบ้าน อาจจะ 5-10 คำ พอวันนรุ่งขึ้นต้องนำมาบัญชีคำอ่านมาส่งคุณครู เพื่อตรวจสอบดูว่านักเรียนมีพัฒนาการในการอ่านดีขึ้นหรือไม่ นี่คือเทคนิคการสอนที่สามารถทำให้เด็กอ่านหนังสือคล่อง
          ไม่เพียงเท่านั้น การประเมินคุณภาพการศึกษาของเด็ก ต้องวัดที่ 'ตัวเด็ก' จริงๆ ไม่ใช่ประเมินจากผลงานบนกองกระดาษของครูผู้สอน ถึงจะทำให้เด็กมีคุณภาพจริงๆ เพราะเมื่อครั้ง 'อาจารย์สมชัย' นั่งเก้าอี้เลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษา (กปช.) หรือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในปัจจุบัน เป็นที่กล่าวขานถึงการคุมเข้มคุณภาพนักเรียน จนเป็นที่หวั่นเกรงของผู้ใต้บังคับบัญชา และทำให้เด็กไทยยุคนั้นปลอดคนไม่รู้หนังสือ
          'สมัยผมเป็นเลขาธิการ สปช. ผมประเมินคุณภาพเด็ก ป.4-ป.6 ทั่วประเทศ ทำออกมาเป็นคะแนนเฉลี่ยทุกจังหวัด ผมส่งผลคะแนนให้ ผอ.สปช.ทุกจังหวัด ของใครอยู่จุดไหน เปรียบเทียบกันทุกปี หากผลประเมินพบว่าคุณภาพการเรียนของเด็ก ป.4 และ ป.6 อยู่กับที่ หรือลดลง ผอ.สปจ.ต้องมาคุยกับผม รายงานมาให้หมด ตลอดเวลา 365 วัน ในฐานะผู้บริหารทำอะไรอยู่ ทำไมคุณภาพการศึกษาของเด็กถึงอยู่กับที่ หรือลดลง แน่นอนผลประเมินคุณภาพการศึกษาของเด็กแต่ละโรงเรียนมีผลต่อการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง'
          ดูเหมือนว่าการแก้ไขปัญหาตามสไตล์อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นเรื่องง่ายที่ใครก็สามารถทำได้ ทว่าในความเป็นจริงแล้ว อาจารย์สมชัยชี้ว่าหัวใจของการศึกษามี 2 เรื่องใหญ่เท่านั้น คือ ปริมาณและคุณภาพ
          'แน่นอนคุณภาพต้องมาก่อนปริมาณแต่ก่อนที่คุณภาพการศึกษาจะเกิด สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึง ต้องเริ่มที่ผู้บริหารโรงเรียน มีคนถามผมเมื่อ 10 ปีก่อนว่าความสำคัญประการแรกของการพัฒนาโรงเรียนแต่ละแห่งนั้นคืออะไร ผมตอบได้เลยว่าคือ ผู้บริหารโรงเรียน หรือ ผอ.โรงเรียน หรือครูใหญ่ หากได้ 'ครูใหญ่' ที่ไม่เก่ง ไม่มีความรู้ ไร้ความสามารถ หรือไม่เห็นความสำคัญของงานด้านการศึกษาแล้ว ก็ยากที่จะถามหาคำว่า คุณภาพการศึกษา'
          ทว่าปัจจุบันมีผอ.โรงเรียนหลายแห่งเหมางานทุกอย่างมาไว้ที่ตัวคนเดียวทั้งหมด ทั้งงานจัดซื้อจัดจ้าง งานธุรการ งานชุมชนสัมพันธ์ งานสังคม ฯลฯ ทำทุกเรื่องยกเว้นงานด้านการศึกษา หากผอ.โรงเรียนไม่กำกับดูงานด้านการศึกษา ปล่อยให้ครูน้อยว่าไปตามเรื่อง สุดท้ายก็เลอะ !
          รวมถึงปัญหาเด็กอ่านไม่ออกที่มีมานาน40 ปี ยังดำรงอยู่คู่กับการจัดการศึกษาไทย ทั้งที่เมื่อ 40 ปีก่อน ครูสอนหนังสือเด็กสมัยก่อนจบวุฒิ ปกศ.สูง แต่ปัจจุบันครูจบปริญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอกก็มี แต่ปัญหาซ้ำซากเด็กไม่รู้หนังสือก็ยังแก้ไขไม่ได้
          'หากครูสอนเด็กโรงเรียนเอกชนแล้วไม่ดี มีพ่อแม่ ผู้ปกครองมาบอกผู้บริหารโรงเรียนครูคนนั้นไม่ได้ต่อสัญญาจ้างเป็นครูสอนหนังสือต่อแน่ แต่ครูในโรงเรียนรัฐบาลไม่เคยมีบทลงโทษครูที่สอนเด็กแล้วอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ น่าจะมีมาตรการไม่ขึ้นเงินเดือนครูที่สอนเด็กอ่านไม่ได้ เพราะสิ้นเปลืองภาษีประชาชน ส่วนมากก็เห็นแก่หน้ากัน นั่งทับปัญหาเอาไว้'
          ณ วันนี้ 'อาจารย์สมชัย วุฑฒิปรีชา' ในวัย 77 ปี ทว่าสุขภาพร่างกายยังคงแข็งแรง เดินเหิน กระฉับกระเฉิง ชนิดที่คนหนุ่มสาวยังก้าวขาเดินตามไม่ทัน ชีวิตในแต่วันหมดไปกับงานด้านการศึกษา คลุกคลีอยู่ในแวดวงการศึกษามาตลอดชีวิต เปรียบดั่งเป็น 'คลังสมองของชาติ' แม้เกษียณอายุราชการไปนาน 17 ปี ปัจจุบันกับบทบาทของ 'ประธานคณะกรรมการโรงเรียนศรีวิกรม์' คือคำตอบที่ดีที่สุดว่า 'อาจารย์สมชัย วุฑฒิปรีชา' คือปูชนียบุคคลด้านการศึกษาที่ควรจดจำไปตลอดกาล...
          กมลทิพย์ ใบเงิน11





สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน11


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ข่าว สช. จันทร์ ที่ 7 เดือน กรกฏาคม พ.ศ.2551 ,11

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง