[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : สสส. จับมือ มรภ. 24 แห่ง ดึง 2 แสนคนเป็นประชากรสุขภาพ ถวาย "ในหลวง"

       ม.ราชภัฏ 24 แห่ง จับมือ สสส. ดึง 200,000 คน ร่วมปฏิญาณเป็นประชากรสุขภาพ ถวายในหลวง กมธ.ศึกษาวุฒิสภา เล็งส่งเรื่องถึงรมว.ศธ. ขยายผลมหาวิทยาลัยสร้างสุขภาพทั่วประเทศ
       
       วันนี้(26 พ.ย.) ที่โรงแรมเรดิสัน กรุงเทพฯ ผศ.ดร.โสภณ พวงสุวรรณ ประธานโครงการการสร้างเสริมสุขภาวะในมหาวิทยาลัยราชภัฏ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงถึงการจัดงาน “สุขภาพดีทั่วไทย ราชภัฎร่วมใจ เทิดไท้องค์ราชัน” ว่า ชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงพระราชทานชื่อ “ราชภัฏ” ซึ่งแปลว่า “คนของพระราชา” จึงได้ร่วมกันจัดงาน “สุขภาพดีทั่วไทย ราชภัฏร่วมใจ เทิดไท้องค์ราชัน” ในวันที่ 3 ธันวาคม เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนม์ 81 พรรษา โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 24 แห่ง ประกอบด้วย ธนบุรี สวนสุนันทา ราชนครินทร์ เทพสตรี รำไพพรรณี เพชรบุรี หมู่บ้านจอมบึง กาญจนบุรี เชียงราย อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ ลำปาง เพชรบูรณ์ พิบูลสงคราม กำแพงเพชร สกลนคร มหาสารคาม อุดรธานี บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี นครราชสีมา นครศรีธรรมราช และภูเก็ต
       

       “ในวันที่ 3 ธันวาคม มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 24 แห่ง จะมีการปฏิญาณตนเป็นประชากรสุขภาพ จำนวน 200,000 คน ประกอบด้วย นักศึกษา อาจารย์ ผู้บริหาร และบุคลากรในมหาวิทยาลัย ด้วยการทำความดี ละเว้นสิ่งเสพติดและอบายมุข ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรม ตระหนักถึงความสำคัญของการมีสุขภาพที่ดีจนกลายเป็นวิถีชีวิต และยังมีกิจกรรมการบริจาคโลหิตถวายเป็นพระราชกุศล การตรวจสุขภาพ กิจกรรมการออกกำลังกาย กิจกรรมลดภาวะโลกร้อน ด้วยการปลูกต้นไม้และการรณรงค์ลดใช้พลังงาน” ผศ.ดร.โสภณ กล่าว
       
       นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้และสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า สถานการณ์สุขภาพของเยาวชนขณะนี้แบ่งออกเป็น 4 มิติ สำคัญ คือ 1. มิติทางครอบครัว/ศาสนา พบว่า 47% ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ และ 34% ไปวัดเป็นครั้งคราว 2. มิติสื่อ/การเรียนรู้ พบว่า สื่อออนไลน์เริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันอย่างมาก โดย 56% เข้าอินเทอร์เน็ตทุกวันเฉลี่ย 105 นาที และ 34% เล่นเกมคอมพิวเตอร์/เกมออนไลน์เป็นประจำ ขณะที่การใช้เวลากับการโทรศัพท์เฉลี่ย 74 นาที และดูโทรทัศน์ 154 นาที 3. มิติการใช้ชีวิต พบว่า 49% กินเหล้า 23% สูบบุหรี่ 31% เที่ยวกลางคืน 30% ยอมรับเคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว และ 20% อยากทำศัลยกรรม
        
       4. มิติปัญหาและภาวะเสี่ยง พบว่า วัยรุ่นต่ำกว่า 19 ปี มาทำคลอดปีละ 70,000 คน เยาวชนต่ำกว่า 25 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซด์ ปีละ 7,000 และก่อคดีอาชญากรรม 32,000 คดี/ปี นอกจากนี้ยังพบเยาวชนอายุระหว่าง 19-25 ปี พยายามฆ่าตัวตายปีละ 4,000 คน การดูแลสุขภาพและลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบทางสุขภาพในกลุ่มเด็กและเยาวชนถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏถือเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีเครือข่ายกระจายอยู่ทั่วประเทศ สสส.จึงร่วมทำโครงการกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพในกลุ่มเยาวฃนและบุคลากรทางการศึกษา
       
       นายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา กล่าวว่า เพื่อให้เกิดการขยายผลที่ยั่งยืนของการเป็นมหาวิทยาลัยสุขภาพ ผู้บริหารของสถานศึกษาต่างๆจึงควรให้ความสำคัญในการกำหนดนโยบายที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพ และควรขยายผลจาก 24 แห่ง ไปยังสถาบันการศึกษาอื่นๆทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งนี้คณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา จะทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพัฒนาให้ทุกสถาบันการศึกษาเป็นแหล่งสร้างเสริมสุขภาพให้กับเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง





รายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์ 26 พฤศจิกายน 2551 18:26 น.

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 4

อ่าน 0 ครั้ง