[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : นานาทรรศนะ ว่าด้วยบทบัญญัติ''การศึกษา'' ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

หมายเหตุ - สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมโต๊ะกลมเรื่อง ''ข้อเสนอบทบัญญัติว่าด้วยการศึกษาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่'' ที่ศูนย์สารนิเทศ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ''มติชน'' เห็นว่าเป็นสาระสำคัญจึงนำมาเสนอ

@ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

''บทบัญญัติว่าด้วยการศึกษาในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2542 ยังไม่ครบถ้วน และที่สำคัญไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ ผมจึงอยากให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นกำหนดในเรื่องการศึกษาให้มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และสิ่งที่ผมเห็นว่าน่าจะเพิ่มเติมด้านการศึกษามี 3 ประเด็น 1.ต้องมีบทบัญญัติประกันความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษา และบางครั้งอาจต้องกำหนดเป็นสิทธิและหน้าที่ไว้ด้วย 2.ต้องให้การศึกษาภาคบังคับเป็นหน้าที่ของพลเมือง และ 3.ผมอยากให้เพิ่มเติมในมาตรา 81 ในเรื่องการก้าวสู่สังคมฐานความรู้ผ่านการวิจัย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องได้รับการสนับสนุน

''นอกจากนี้ ยังต้องพัฒนาวิชาชีพครูและให้ความสำคัญกับวิชาชีพครู ตลอดจนอยากให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น โดยเฉพาะภาคเอกชน ผมอยากเห็นภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการศึกษาอย่างกว้างขวาง ในลักษณะความร่วมมือแบบสหกิจ แบบทวิภาคี หรือสนับสนุนงานวิจัย ไม่ใช่เพียงแค่จัดการเรียนการสอนร่วมกันเท่านั้น''

@ ดร.สิริพร บุญญานันต์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา

''จากการระดมความคิดเห็นนักบริหาร นักวิชาการ และนักการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน เกี่ยวกับสาระการศึกษาที่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พบว่ามี 6 ประเด็นที่อยากให้บัญญัติไว้ ได้แก่ 1.กำหนดสาระทางการศึกษาที่มีความสำคัญ ซึ่งรัฐต้องดำเนินการให้เกิดผล และต้องนำไปไว้ในหมวดสิทธิและเสรีภาพ เช่น สิทธิการรับบริการการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย สิทธิการเรียนรู้ตลอดชีวิต 2.เรื่องสิทธิเสรีภาพทางการศึกษาในการรับการศึกษาพื้นฐานอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ควรนำไปไว้ในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ พร้อมทั้งกำหนดค่าใช้จ่ายที่จะไม่เก็บให้ชัดว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และให้สิทธิเรียนฟรีเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ส่วนสิทธิการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในรัฐธรรมนูญควรรับรองสิทธิของประชาชนที่จะได้รับโอกาสเรียนรู้ตลอดชีวิต 3.หน้าที่ทางการศึกษา ควรเพิ่มเติมสาระเกี่ยวกับเสรีภาพทางวิชาการ โดยกำหนดให้บุคคลมีหน้าที่รับการศึกษาเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540

''ประเด็นที่ 4 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐเกี่ยวกับการศึกษา ในส่วนของครูต้องให้สถานศึกษามีครูอย่างพอเพียง และเป็นครูที่มีคุณภาพและมีคุณธรรม มีการส่งเสริมพัฒนาครูให้ก้าวหน้าในวิชาชีพ สำหรับนักเรียนนั้นรัฐต้องดูแลให้สถานศึกษาปราศจากสิ่งที่เป็นอันตรายต่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ 5.การจัดการศึกษาโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ควรกำหนดให้ อปท.มีหน้าที่ส่งเสริมการจัดการศึกษาของเอกชนด้วย และ 6.การศึกษาชาติต้องมีบทบาทในการนำภาคสังคมและเศรษฐกิจ ไม่ใช่มุ่งพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจและสังคมดังที่เป็นอยู่''

@ นางมัณฑนา ศังขะกฤษณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

''ประเด็นที่ดิฉันอยากให้เพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกเป็นสิทธิหน้าที่และความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งในทางปฏิบัติยังเกิดปัญหากับผู้ปกครองที่ทางโรงเรียนเก็บค่าเล่าเรียนเพิ่มเติม เพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายทั่วไป เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่รัฐสนับสนุนให้ยังไม่เพียงพอ แม้ว่าปัจจุบันโรงเรียนจะได้รับเงินอุดหนุนรายหัวเพิ่มเติมแล้วก็ตาม จึงต้องเปลี่ยนบทบัญญัติจากเดิมที่กำหนดให้ไม่เก็บค่าใช้จ่ายในการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นให้รัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายอย่างเต็มอัตรา โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก และประเด็นที่สอง ต้องกำหนดในรัฐธรรมนูญให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมรับผิดชอบในการจัดการศึกษาร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มากขึ้น เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา และสถานประกอบการ''

@ พ.ต.อ.ธงชัย เย็นประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี

''ที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญไม่ได้สร้างความเป็นธรรมให้กับการศึกษาเท่าที่ควร ดังจะเห็นจากมาตรฐานของโรงเรียนที่ไม่เท่าเทียมกัน นักเรียนทุกคนต่างอยากเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียง แต่ไม่สามารถเข้าเรียนได้ เพราะฐานะยากจน อย่างที่จังหวัดนนทบุรีใครก็อยากเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบนนทบุรี โรงเรียนรอบนอกไม่มีใครอยากเรียน ผมจึงอยากให้กำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ชัดเจนว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอภาคในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าคนจนหรือคนรวย ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องสร้างให้ทุกโรงเรียนมีคุณภาพเท่าเทียมกัน ทำให้ทุกโรงเรียนเป็นโรงเรียนในฝัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก หากทุกโรงเรียนมีมาตรฐานเท่าเทียมกันแล้ว ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวอีก''

@ ดร.นิพนธ์ สุรพงษ์รักเจริญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

''ผมอยากให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดบทบาทให้เป็นหน้าที่ของภาคเอกชนที่ต้องเข้ามาสนับสนุนการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องปฏิบัติ เพื่อให้ประเทศชาติก้าวหน้า โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น บริษัทขนาดเล็กที่กำไรน้อยก็อาจเข้ามาช่วยสนันสนุนด้านบุคลากร หรือสละเวลาในการเข้ามาร่วมร่างหลักสูตร หรือเปิดให้ครูเข้าไปเรียนรู้ในโรงงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของครู ส่วนนโยบายพื้นฐานการจัดการศึกษาผมเห็นว่ารัฐบาลต้องลดบทบาทลง แล้วให้ภาคเอกชนเข้ามาจัดการศึกษามากขึ้น เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันในภาคเอกชน ซึ่งจะเกิดการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาตามมา''

@ รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ

''เรื่องแรกที่ผมอยากให้เพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาในยุคปฏิรูปการศึกษา คือวิถีประชาธิปไตยทางการศึกษา ทั้งในเรื่องสิทธิมนุษยชน และสิทธิหน้าที่ เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่าระบบการศึกษาส่งเสริมให้เด็กตกเป็นทาสระบบหน้าที่ประชาธิปไตย พูดง่ายๆ ว่าซื้อเสียงได้ นอกจากนี้ ต้องให้อิสระเสรีภาพสากลทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยต้องบังคับให้มีระบบตรวจสอบความโปร่งใสในการบริหารจัดการด้วยระบบธรรมาภิบาลในสถาบันการศึกษา และต้องจัดองค์ประกอบทางการศึกษาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เรียน ตลอดจนสนับสนุนครูอาจารย์ให้ทำงานด้วยความสบายใจและมีความคล่องตัวมากขึ้น ที่สำคัญต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กอยู่ร่วมสมัยได้ในอนาคต เพราะเชื่อว่าจะมีสื่ออันตรายอยู่รอบตัว''





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: มติชนรายวัน ฉบับที่ 10559 [หน้าที่ 27 ] ประจำวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง